บทความ

การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของเวียดนามในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นมาก ได้ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าอย่างรุนแรง ต้องมีการสลับการดับไฟฟ้าในบ้างพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ปัจจุบันเวียดนามประสบผลสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาระบบไฟฟ้า โดยมีจุดเด่นในหลายด้าน

3 เมษายน พ.ศ. 2557

เวียดนามกับความสำเร็จพัฒนาไฟฟ้า

ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนโยบายการลงทุน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

                การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของเวียดนามในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นมาก  ได้ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าอย่างรุนแรง ต้องมีการสลับการดับไฟฟ้าในบ้างพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ปัจจุบันเวียดนามประสบผลสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาระบบไฟฟ้า โดยมีจุดเด่นในหลายด้าน

                ประการแรก ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าเริ่มคลี่คลายลงเนื่องจากก่อสร้างโรงไฟฟ้าจำนวนมาก ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าเริ่มเพียงพอกับความต้องการ โดยปี 2556 เวียดนามมีกำลังผลิตไฟฟ้า 23,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้ในสูงสุดอยู่ที่ระดับ 20,000 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าในระบบ กฟผ. มากกว่าเวียดนามไม่มากนัก คือ 31,277 เมกะวัตต์ และมีความต้องการสูงสุดในปี 2556 ที่ระดับ 26,900 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ เข้าใจว่าอีกไม่กี่ปีเวียดนามจะตามทันเนื่องจากจะลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าอีกจำนวนมากเพื่อกำลังผลิตไฟฟ้าเป็น 70,000 เมกะวัตต์ ในปี 2563

                ขณะที่ปริมาณการผลิตไฟฟ้าของเวียดนามอยู่ที่ระดับ 127.8 พันล้านหน่วย ในปี 2556 ใส่ตามไทยอย่างห่างๆ เช่นเดียวกัน โดยปริมาณการผลิตไฟฟ้าในระบบของการไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ระดับ 173.5 พันล้านหน่วย ในปีเดียวกัน และจะหายใจรดต้นคอไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

                ประการที่สอง เวียดนามประสบผลสำเร็จในการขยายเครือข่ายไฟฟ้า โดยเดิมปี 2518 เมื่อรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียว มีประชากรเพียงแค่ 2.5% มีไฟฟ้าใช้ แต่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังปฏิรูปเศรษฐกิจเป็น 77% ในปี 2544 และล่าสุดในปี 2556 เป็น 98.3% ใกล้เคียงกับไทยซึ่งอยู่ระดับ 99% นับว่าเวียดนามได้แซงหน้าหลายประเทศในอาเซียนอย่างไม่เห็นฝุ่น เช่น กัมพูชายังไม่มีไฟฟ้าใช้ 74% เมียนมาร์ 51% ฟิลิปปินส์ 30% อินโดนีเซีย 27% ลาว 22%

                ประการที่สาม โครงสร้างการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของเวียดนามดีเยี่ยม โดยปัจจุบันผลิตจากพลังน้ำมากที่สุด 46% รองลงมา คือ ก๊าซธรรมชาติ 30% ถ่านหิน 17% น้ำมัน 3% และนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศอีก 4%  แตกต่างจากไทยอย่างมาก โดยในปี 2556 กรณีของไทย ก๊าซธรรมชาติสัดส่วนสูงถึง 67% รองลงมา คือ ถ่านหิน 20% พลังน้ำ 3% น้ำมัน 1% และนำเข้า 9%

                จากการที่เวียดนามผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำ ทำให้สามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้ในราคาต่ำกว่าไทย ยิ่งไปกว่านั้น ราคาไฟฟ้าของไทยมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นมากในอนาคต เนื่องจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีแนวโน้มผลิตลดลง ต้องนำเข้าในรูปก๊าซธรรมชาติเหลว LNG เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งมีราคาแพงกว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมาก

                เวียดนามมีเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจาก 9,200 เมกะวัตต์ ในปี 2556 เป็น 17,400 เมกะวัตต์ ในปี 2563 โดยมีเขื่อนขนาดใหญ่ คือ เขื่อนซอนลา (Son La) เปิดดำเนินการเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2555 กำลังผลิตมากถึง 2,600 เมกะวัตต์ นับเป็นใหญ่ที่สุดในเออีซี โดยเขื่อนแห่งนี้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเกือบเท่ากับ 70% ของเขื่อนทั้งหมดในประเทศไทยรวมกัน ซึ่งมีกำลังผลิต 3,500 เมกะวัตต์ โดยเขื่อนภูมิพลมีกำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุดในไทย 779 เมกกะวัตต์ รองลงมา คือ เขื่อนศรีนครินทร์ 720 เมกกะวัตต์ เขื่อนสิริกิติ์ 500 เมกกะวัตต์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ 300 เมกกะวัตต์ ฯลฯ

                สำหรับในอนาคต ถ่านหินจะเป็นเชื้อเพลิงหลัก โดยเวียดนามกำหนดเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจาก 5,800 เมกะวัตต์ เมื่อปี 2554 เป็น 36,000 เมกะวัตต์ ในปี 2563 และ 75,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 โดยตั้งเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นสัดส่วนขั้นต่ำ 56% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ภายในปี 2573

                ตามกฎหมายไฟฟ้าที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเมื่อปี 2547 ได้กำหนดให้เปิดเสรีการแข่งขันอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มจากเปิดให้มีการแข่งขันในการผลิตไฟฟ้า โดยบริษัท EVN เป็นผู้ผูกขาดรับซื้อเพียงรายเดียว ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทจากต่างประเทศไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายแก่บริษัท EVN แล้ว รวมถึงบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ของไทย ซึ่งสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินกวางจิ ขนาด 1,200 เมกะวัตต์ ณ เขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดกวางจิ มูลค่าโครงการประมาณ 7 หมื่นล้านบาท

                จากนั้นนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป กำหนดจะเปิดเสรีเพิ่มเติม โดยผู้ผลิตไฟฟ้าการขายแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหญ่ได้ โดยไม่ต้องผ่านบริษัท EVN ซึ่งเทียบเท่ากับการเปิดเสรีของไทยในปัจจุบัน และท้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป จะเปิดเสรีในระดับขายไฟฟ้าปลีก ซึ่งจะนับเป็นการเปิดเสรีมากกว่าไทยในปัจจุบันเสียอีก

                 อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของการลงทุนผลิตไฟฟ้าในเวียดนาม คือ การจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัท EVN ในระยะที่ผ่านมา จะในรูปของสัญญาก่อสร้าง ดำเนินการผลิตไฟฟ้า และโอนโรงไฟฟ้า (Build Operate Transfer - BOT) ให้แก่เวียดนามภายหลังสัญญาสิ้นสุดลง ซึ่งนับว่าไม่จูงใจการลงทุนมากนับ เปรียบเทียบกับไทยที่ขายไฟฟ้าแก่ กฟผ. จะในรูปสัญญาก่อสร้าง ดำเนินการผลิตไฟฟ้า และเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า (Build Own Operate - BOO) โดยไม่ต้องโอนโรงไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. เมื่อสิ้นสุดสัญญาแต่อย่างใด

 

บทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 25 มีนาคม 2557

 

 

 

หมวดของข่าว : ลงทุนต่างประเทศ , ลงทุนอาเซียน , ข้อมูลการลงทุน