ความท้าทายในปี 2557
ผ่านไป 1 เดือนของปีม้า 2557 เรียกได้ว่าเป็นอีกปีที่ไม่ธรรดาแน่นอนครับ โดยตลาดการเงิน และเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังถูกปัญหารุมเร้าอยู่หลายปัจจัย นับตั้งแต่เรื่องการเมืองที่ยังส่อแววยืดเยื้อและยังมองไม่เห็นฉากจบ ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศซบเซา ตั้งแต่ภาคการบริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม และชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายจำนำข้าว การลงทุนจากต่างประเทศซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอการลงทุนแล้ว รวมไปถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่ย่อมมีการชะงักงันเนื่องจากไม่มีรัฐบาลอย่างเป็นทางการ เศรษฐกิจไทยปี 2557 จากเดิมที่คาดการณ์กันว่าจะโต 4 – 5% ผู้เขียนมองว่าเป็นไปได้ที่จะมีการปรับประมาณการกันลงมาที่ 3% หรือต่ำกว่านั้นครับ
มองไปที่ตลาดการเงินและเศรษฐกิจต่างประเทศ เริ่มเห็นปัญหาในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) อย่างอาร์เจนตินา ตุรกี แอฟริกาใต้ ซึ่งล่าสุดค่าเงินอ่อนค่าอย่างหนัก จากปัญหาเงินไหลออก การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมาก และทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศซึ่งร่อยหรอลงไปมาก คล้ายกับปัญหาวิกฤตต้มยำกุ้งที่เคยเกิดขึ้นกับบ้านเราในปี 2540 ความวิตกกังวลในตลาดเกิดใหม่ส่งผลกระทบต่อประเทศในเอเชียบางประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาก ๆ อย่างอินเดีย และอินโดนีเซีย โดยค่าเงินอ่อนค่าไปมากเช่นกัน แน่นอนว่าแม้ประเทศไทยจะมิได้มีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากเท่ากับหลายประเทศที่กำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งทุนสำรองเงินตราจัดว่ายังมีอยู่มากพอสมควร แต่ปัญหาการเมืองในประเทศ ประกอบกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวก็ได้กดดันค่าเงินบาทให้มีทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่องเช่นกัน
ผู้เขียนมองว่าปัญหาของประเทศในกลุ่ม Emerging Market น่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และราคาของสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงสั้น ทำให้ดัชนีของหุ้นในประเทศอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นที่ปรับขึ้นมาค่อนข้างมากประมาณ 20-50% ในปี 2556 มีการปรับฐาน อย่างไรก็ตามปัญหาวิกฤตค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ในครั้งนี้ ไม่น่าจะถึงขนาดฉุดทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ประเทศในกลุ่ม G3 อย่าง สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น น่าจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี เป็นอานิสงส์ให้การส่งออกของประเทศอื่น ๆ เติบโตตามไปด้วย หากมีการปรับตัวลงของตลาดหุ้นหลัก ๆ ของโลกน่าจะเป็นจังหวะที่ดีสำหรับการทยอยสะสมการลงทุน
แนะนำลงทุนหุ้นญี่ปุ่น เอเชียเหนือ, ตราสารหนี้ระยะกลาง, และหุ้นกู้อนุพันธ์
สำหรับประเทศไทยน่าจะเป็นอีกปีที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2557 น่าจะไม่สูงมากเหมือนปีที่ผ่าน ๆ มาโดยโตที่ประมาณ 10% ผู้เขียนมีมุมมองว่าตลาดจะปรับตัว sideway ในปีนี้โดยผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 10 – 15% ซึ่งถือว่าไม่มากนักหากเทียบกับความผันผวนที่มีค่อนข้างมาก กลยุทธ์ที่เหมาะสำหรับปีนี้คือ “ลงซื้อ ขึ้นขาย” โดยหาก P/E Ratio ของตลาดลงมาที่ 10 – 11 เท่าน่าจะเป็นจังหวะในการทยอยซื้อ แต่หาก P/E ปรับเพิ่มขึ้นไปเกิน 12-13 เท่าก็ควรที่จะขายทำกำไรออกมาบ้าง
ในการจัดพอร์ตการลงทุน ผู้เขียนเน้นย้ำเสมอให้แบ่งพอร์ตเป็นสองส่วน คือส่วนที่เสี่ยงสูง กับส่วนที่เสี่ยงต่ำ ถ้าเอาสูตรที่จำง่าย การลงทุนส่วนที่เสี่ยงสูงไม่ควรเกิน (100 – อายุของเรา) เว้นแต่เราเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มากจริง ๆ สำหรับปี 2557 นี้ ในส่วนที่เสี่ยงสูง ผู้เขียนแนะนำให้กระจายการลงทุนจากหุ้นไทยไปลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มเอเชียเหนืออย่างเกาหลี หรือไต้หวัน สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้นอยู่ในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีทั้งการอัดฉีดด้านการเงินการคลัง รวมไปถึงการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนประเทศในกลุ่มเอเชียเหนืออย่างเกาหลีนั้นได้รับประโยชน์จากการผลิตสินค้าส่งออกโดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี และรถยนต์ไปยังประเทศยักษ์ใหญ่ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวในปีนี้ นอกจากนี้การแบ่งสัดส่วนเล็ก ๆ 5 – 10% ไปลงทุนในทองคำก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับปีนี้ครับ ซึ่งทองคำจะทำหน้าที่หลักในการลดความเสี่ยงให้กับพอร์ตในกรณีที่ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ Emerging Market เกิดลุกลามไปมาก ความคาดหวังที่ต่ำของนักลงทุนต่อราคาทองคำจะเป็นตัวพยุงไม่ให้ราคาทองไม่น่าลงไปกว่านี้มากนัก
ในส่วนของพอร์ตส่วนที่รับความเสี่ยงต่ำ ผู้เขียนแนะนำให้ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้อายุปานกลางซึ่งเริ่มมีเสนอขายกันมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัวในปีนี้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยมีทิศทางทรงตัวหรือปรับตัวลดลงได้เล็กน้อยการลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางจะได้รับประโยชน์จากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาตราสารหนี้ นอกจากนี้การแบ่งเงินในส่วนเสี่ยงต่ำไปลงทุนในตราสารหนี้อนุพันธ์ (Structure note) ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่มากขึ้นครับ โดยผู้เขียนแนะนำให้ลงทุนในตราสารหนี้อนุพันธ์ที่อิงกับการแข็งค่าของเงินหยวนประเทศจีนที่มีแนวโน้มระยะยาวแข็งค่าต่อเนื่อง ทั้งนี้ท่านนักลงทุนสามารถติดต่อซื้อตราสารหนี้อนุพันธ์ได้ทางธนาคารพาณิชย์ รวมไปถึงกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้อนุพันธ์เหล่านี้ครับ
คุณเจษฎา สุขทิศ, CFA นามทวิตเตอร์ @FundTalk ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน หรือ “CIO” ที บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด รับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย และกลยุทธ์การลงทุน รวมถึงการบริหารทีมผู้จัดการกองทุน, ทีมวิจัย, และทีมค้าหลักทรัพย์ สำหรับการลงทุนในหุ้น, ตราสารหนี้, อนุพันธ์ และการลงทุนในต่างประเทศ คุณ เจษฎา ได้เริ่มงานในสายการลงทุนกับ บลจ. ยูโอบี จำกัด โดยรับผิดชอบการลงทุนของกองทุนตราสารหนี้ และตราสารทุน และในปี 2548 คุณ เจษฎา ได้เข้าร่วมงานกับ บลจ. อยุธยา เจเอฟ (AJF) ซึ่งขณะนั้นเป็นบริษัทในเครือของ JPMorgan Asset Management ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อและโครงสร้างผู้ถือหุ้นเป็น บลจ. กรุงศรี จำกัด ในปัจจุบัน โดยมีประสบการณ์ในหลายสายงาน ได้แก่ การลงทุนในหุ้น, ตราสารหนี้, การพัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุน และการใช้อนุพันธ์ชนิดต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุน ก่อนที่จะมาร่วมงานกับ ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล คุณเจษฎา ได้มีโอกาสร่วมงานกับ บลจ. ไทยพาณิชย์ จำกัด ในตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้และบริหารเงิน รับผิดชอบหน่วยงานด้านการลงทุนตราสารหนี้ระยะยาวประเภท Active โดยดูแลทีมผู้จัดการกองทุนในการบริหารสินทรัพย์ประมาณ 1 แสนล้านบาท คุณเจษฎา จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ และปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและการจัดการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนอกจากการรับหน้าที่ CIO ที่ ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิลแล้วคุณเจษฎา ยังรับหน้าที่เป็นวิทยากรให้กับมหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่าง ๆ ในตลาดทุน และการให้ความรู้เรื่องการลงทุนผ่านการเขียนบทความ /บล็อก ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน, settrade.com, FundManagerTalk.com และรายการ Stock Focus ทางโทรทัศน์ช่อง NBT Read more from this author