ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน

น.ส.วิลาสินี โนนศรีชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า

28 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

               น.ส.วิลาสินี โนนศรีชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า แนวโน้มการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในอินโดนีเซียมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวทางการไปลงทุนของผู้ประกอบการควรจะไปจับตลาดกลางถึงสูง และเน้นการไปลงทุนใน 5 เมืองหลัก ได้แก่ จาการ์ตา บาหลี เมดาน สุราบายา และมากัสซาร์ เพราะเป็นเมืองขนาดใหญ่ และมีโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยมาก

               ทั้งนี้ จาการ์ตา เป็นเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ มีจำนวนประชากรค่อนข้างมาก ซึ่งเหมาะที่ผู้ประกอบการไทยจะไปขยายตลาด ขณะที่สุราบายา เป็นอีกเมืองที่อยู่บนเกาะชวา เป็นเมืองท่าและศูนย์กลางทางธุรกิจเช่นเดียวกัน บาหลี เป็นเมืองที่มีประชากรนับถือศาสนาฮินดู สามารถบริโภคหมูได้ และเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก สินค้าที่เข้าไปที่บาหลีจึงอาจจะแตกต่างกับเข้าไปที่เมืองอื่น 

               เมดาน เป็นเกาะที่ค่อนข้างไกลจากจาร์กาตาร์ เป็นเมืองหลวงของเกาะสุมาตรา ที่ใกล้กับเมืองไทย ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าชาวอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ได้ ซึ่งเป็นเมืองที่น่าสนใจมาก และสุดท้ายเมืองมากัสซาร์ ที่ตั้งอยู่บนเกาะสุราเวสี ก็เป็นอีกเมืองที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย

               อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ประกอบการจะเข้าไปลงทุน หรือทำการค้าในแต่ละพื้นที่จำเป็นต้องศึกษาวัฒนธรรม ประเพณีของแต่ละพื้นที่ รวมถึงศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ที่จะแตกต่างกันไป ขณะเดียวกันควรผลิตสินค้าจับกลุ่มตลาดกลางถึงบน เพราะตลาดล่างเป็นสินค้าจีนไปแล้ว จึงไม่ควรจะลงไปแข่งขัน

               “การไปลงทุนผลิตสินค้าในอินโดนีเซียควรจะเน้นการผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศ แต่ควรโฟกัสพื้นที่ที่จะเข้าทำตลาด เพราะอินโดนีเซียเป็นหมู่เกาะ มีปัญหาเรื่องการขนส่งสินค้า หากมีเป้าหมายจะปูพรมทั่วเกาะ ก็ควรไปลงทุนที่นั้นเลยน.ส.วิลาสินี กล่าว 

               นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรจะมองหาว่าอินโดนีเซียต้องการอะไร มีจุดอ่อนตรงไหน แล้วไปลงทุนในกิจการนั้นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับท้องถิ่น หรืออย่าไปแข่งขันกับจุดแข็งที่อินโดนีเซียมาอยู่ เช่น อินโดนีเซียมีทรัพยากรมาก มีวัตถุดิบมาก ไทยก็ไปลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบนั้นๆ  ให้ต่างจากที่อินโดนีเซียมีอยู่แล้ว 

               ขณะที่ปัญหาด้านกฎหมาย ทุกประเทศมีกฎระเบียบการลงทุนเฉพาะเหมือนกัน ในอินโดนีเซียกฎหมายกลางและกฎระเบียบท้องถิ่นจะต่างกัน ขั้นตอนการลงทุนอาจจะยุ่งยาก เช่น การจดทะเบียนตั้งบริษัทอาจใช้เวลานาน ซึ่งการเข้าเริ่มต้นธุรกิจอาจจะมีความยุ่งยาก แต่นักลงทุนที่เข้าไปแล้วส่วนใหญ่ก็ประสบความสำเร็จอย่างดี

 

http://www.posttoday.com/%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88-%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94/AEC/297281/%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%995%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%AF

 

 

หมวดของข่าว : ลงทุนต่างประเทศ , ลงทุนอาเซียน , ข้อมูลการลงทุน