ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน
ทิศทาง ศก.อินโดฯยุค "โจโกวี" 9 นโยบายปลุกเชื่อมั่น-กระตุ้นลงทุน
25 สิงหาคม พ.ศ. 2557ปิดฉากไปกับการเลือกตั้งของประเทศประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดในอาเซียนและอันดับสามของโลกอย่างอินโดนีเซีย นายโจโก วิโดโด หรือโจโกวี จากพรรคเพเดอี-เพ และอดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา ได้รับความไว้วางใจจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอินโดนีเซียจนสามารถเอาชนะนายปราโบโว สุบีอันโต คู่แข่งจากพรรคเกอรินดา ด้วยคะแนนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งอินโดนีเซียประกาศอย่างเป็นทางการที่ 53.15% ต่อ 46.85%
เมื่อมีการประกาศอย่างเป็นทางการเรื่องชัยชนะในการเลือกตั้ง นายโจโกวีถือว่าเป็นผู้นำที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะเข้ารับหน้าที่อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมนี้
มองอนาคต ศก.กับรัฐบาล"โจโกวี"
นายอันดรีอันโต จายาปูร์นา ประธานหอการค้าอินโดนีเซีย-ไทย (INTCC)เปิดเผยมุมมองต่อ "ประชาชาติธุรกิจ" เกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียว่า นโยบายที่สำคัญและเป็นจุดเด่นของโจโกวีประกอบด้วย 9 วาระที่น่าจับตามอง
ประกอบด้วย 1) การเดินหน้าปฏิรูปภาครัฐเพื่อปกป้องประชาชนและสิ่งแวดล้อมในประเทศ 2) การพัฒนาที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ และอยู่ภายใต้กรอบของระบอบประชาธิปไตย 3) การพัฒนาพื้นที่ชนบทในอินโดนีเซีย 4) การปฏิรูปหน่วยงานโดยการบังคับใช้กฎหมาย
5) การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน 6) ผลักดันภาคการผลิตให้มากขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 7) การส่งเสริมด้านเศรษฐกิจอย่างมีเสรีภาพ โดยการพัฒนายุทธศาสตร์ของประเทศ 8) การยกเครื่องภาพลักษณ์ของประเทศให้ดีขึ้น และ 9) การเสริมสร้าง "เอกภาพในความหลากหลาย" และการปฏิรูปสังคม
สำหรับนโยบายเชิงบวกที่ส่งผลต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ประธานหอการค้ามองว่า โจโกวีเป็นคนตรงและมีความโปร่งใสในการบริหารงาน ทั้งยังมีเป้าหมายในการปฏิรูปการเมือง กำจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อนักลงทุนทั้งในและภายนอกประเทศ และจะส่งผลเชิงบวกต่อการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ถนน ท่าเรือ สนามบิน พลังงานและอื่นๆ
นอกจากนี้ โจโกวียังมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นการลงทุนในประเทศ โดยพุ่งเป้าเพิ่มความรวดเร็วในขั้นตอนการขอใบอนุญาต เพื่อการลงทุนและการค้า ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจภายในอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ นโยบายสำคัญเพื่อการสร้างความเชื่อมั่นในสายตาชาวต่างชาติ ด้วยการปฏิรูปด้านกฎหมาย ระบบการศึกษา และเพิ่มความสามารถในการผลิตในท้องถิ่น จะเป็นอีกหนึ่งการสร้างรายได้และความหลากหลายอย่างมีประสิทธิภาพในประเทศมากขึ้น
ด้านนายภาสกร ศิริยะพันธุ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำอินโดนีเซีย ได้ตอบคำถามเรื่องนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลนายโจโกวีผ่านทางอีเมล์ว่า ไม่น่าจะแตกต่างจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันมากนัก โดยเรื่องสำคัญต่างๆ อาทิ การยกเลิกอุดหนุนราคาน้ำมันจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป
ทั้งนี้ เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ของอินโดนีเซียจะมีความเป็นชาตินิยมทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับรัฐบาลปัจจุบัน แต่จะมากขึ้นหรือไม่ คงต้องติดตามต่อไป อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนายโจโกวีน่าจะมองนักลงทุนต่างชาติอย่างเป็นมิตรมากกว่ารัฐบาลชุดก่อน
หาทางออกปัญหาส่งออกแร่
การบ้านชิ้นใหญ่ของโจโกวีกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งเป็นเซ็กเตอร์หลักของประเทศ โดยมีประเด็นนับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีสุสิโล บัมบัง ยูโดโยโนห้ามส่งออกแร่ดิบจำพวกเหล็ก ทองแดง บอกไซต์ และนิกเกิล หรือเงิน ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำสำหรับการผลิตสินค้าในหลายอุตสาหกรรม
รอยเตอร์ส รายงานบทสัมภาษณ์นายโจโกวีว่า จะหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นักลงทุน เรกูเลเตอร์ และอีกหลายคนทราบปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อจะหาทางออกร่วมกัน
แม้จะเป็นสัญญาณบวก แต่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ยังเป็นทุนทางการเมืองอีกด้วย โดยนายยูซูฟ คัลล่า รองประธานาธิบดีของโจโกวี มีพื้นเพจากนักธุรกิจเหมืองแร่นิกเกิลบนเกาะสุลาเวสีตะวันออก โดยกฎหมายห้ามส่งออกแร่ดิบ มีการพูดคุยกันตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งในปีดังกล่าวนายยูซูฟก็ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเช่นกัน
แต่ธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในอินโดนีเซีย ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด แม้หากมีการเข้มงวดในการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยนายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ตอบคำถามประชาชาติธุรกิจทางอีเมล์ โดยมองว่าที่ผ่านมาอินโดนีเซียมีการออกกฎระเบียบให้ผู้ผลิตถ่านหินขายถ่านหินในประเทศบางส่วนเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ในประเทศก่อน ซึ่งบริษัทบ้านปูได้ปรับตัวและดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว
เช่นเดียวกับนายขจรพงศ์ คำดี กรรมการผู้จัดการบริษัทพร้อมคณะกรรมการ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) ที่ยืนยันว่า เรื่องกฎหมายห้ามส่งออกแร่ไม่ส่งผลกระทบ และการเข้ามาบริหารของโจโกวี ธุรกิจต่างชาติคาดว่าจะได้อานิสงส์ด้านบวกทั้งหมด และมองว่าประธานาธิบดีที่มาจากภาคเอกชนเหมาะสมบริหารประเทศอินโดฯมากกว่าผู้นำที่มาจากทหาร
สัมพันธ์ไทย-อินโดฯ-อาเซียน
สำหรับผู้ชนำใหม่กับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-อินโดนีเซีย นายภาสกร ศิริยะพันธุ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำอินโดนีเซีย ให้คำตอบว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย และนโยบายของอินโดนีเซียต่ออาเซียนโดยภาพรวมโดยเฉพาะในแง่ของ "สาระ" เนื่องจากผลประโยชน์พื้นฐานของอินโดนีเซียยังเหมือนเดิม แต่สิ่งที่อาจเปลี่ยนไปคือ "สไตล์" ของการดำเนินการทูตของผู้นำคนใหม่ที่อาจแตกต่างจากประธานาธิบดีคนก่อน
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินโดนีเซียมีความแนบแน่นใกล้ชิด โดยในปีหน้าจะครบ 65 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ทั้งสองประเทศไม่มีปัญหาที่เป็นสาระสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างกัน มูลค่าการค้าสองฝ่ายในระยะหลังมีประมาณปีละเกือบ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนมีความรู้จักกันใกล้ชิดกันมากขึ้น ชาวไทยและสินค้าไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาชาวอินโดนีเซีย ภาพยนตร์ไทยเป็นที่ชื่นชอบของชาวอินโดนีเซีย นอกจากนี้ การท่องเที่ยวระหว่างกันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ อินโดนีเซียให้ความสำคัญกับอาเซียนอย่างมากมาโดยตลอด ในฐานะที่อาเซียนเป็นกลไกหนึ่งในการดำเนินการทางการทูตของอินโดนีเซีย ในการสนับสนุนการมีบทบาทในภูมิภาคและในเวทีโลก อีกทั้งอาเซียนจะเป็นประชาคมอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม อินโดนีเซียจึงมีผลประโยชน์ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ในการผลักดันให้อาเซียนประสบความสำเร็จ
หมวดของข่าว : ลงทุนต่างประเทศ , ลงทุนอาเซียน , ข้อมูลการลงทุน
-
ผู้นำเวียดนามยกย่องเจรจาเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปคืบหน้า
26 สิงหาคม พ.ศ. 2557 -
รัสเซียนำเข้าข้าวจากพม่าเพิ่ม ดันยอดส่งออกขยายตัว 25%
26 สิงหาคม พ.ศ. 2557 -
เวียดนามเล็งเพิ่มมูลค่ากาแฟส่งออก เสริมคุณภาพทำกำไรสูง
26 สิงหาคม พ.ศ. 2557 -
ยอดส่งออกข้าวเขมรลด 1.6% ในช่วง 7 เดือนแรกของปี
26 สิงหาคม พ.ศ. 2557