ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน
"ลาว" ล้ำหน้าเขต ศก.พิเศษ ปี"63 ผุด 25 เขตดูดทุนต่างชาติ
29 กันยายน พ.ศ. 2557เป็นเวลา 11 ปีแล้วที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้อนุมัติสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตเศรษฐกิจเฉพาะ (Special Economic Zone : SEZ) ด้วยเงินลงทุนนับพันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต อีกทั้งยังได้ตั้งเป้าหมายจะสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษให้ได้อีก 25 แห่งภายในปี 2563 อันจะเป็นพลังให้เศรษฐกิจลาวขยายตัวเร็วยิ่งขึ้น
ปัจจุบันรัฐบาลลาวได้อนุมัติจัดตั้งเขต SEZ ไปแล้ว 10 แห่ง รวมเนื้อที่ทั้งหมดมากกว่า 84,785 ไร่ เงินลงทุนรวม 1.14 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีการลงทุนจริง 741 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษ "สะหวัน-เซโน" เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนำร่องแห่งแรกที่รัฐบาลลาวสร้างขึ้นเมื่อ
ปี 2546 เพื่อดึงดูดการลงทุนตามเส้นทางR 9 (จังหวัดมุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขต) "นางพิมล ปงกองแก้ว" อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ เวียงจันทน์ เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษของลาวถูกกำหนดมาเพื่อให้เป็นตัวเมืองใหม่ที่ทันสมัยครบวงจร
ซึ่งจะสามารถดึงดูดการลงทุนภายในและต่างประเทศ โดยมีนโยบายส่งเสริมพิเศษมีระบบเศรษฐกิจการเงิน มีความสงบปลอดภัยและรักษาสิ่งแวดล้อม ส่วนเขตเศรษฐกิจเฉพาะ กำหนดให้เป็นเขตที่เน้นหนักด้านอุตสาหกรรม การผลิตเพื่อการส่งออก เขตตัวเมืองท่องเที่ยว เขตการค้าปลอดภาษี เป็นต้น
SEZ ลาวประชิดชายแดนไทย
สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตเศรษฐกิจเฉพาะทั้ง 10 เขตของลาวในขณะนี้มีการลงทุนจัดตั้งทั้งในเขตนครหลวงเวียงจันทน์ และในแขวงต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการสร้างความเจริญและพัฒนาเศรษฐกิจของแขวงและเมืองต่าง ๆ โดยเขต SEZ ที่ถูกอนุมัติจัดตั้งในแขวงต่าง ๆ ของลาว จำนวน 5 เขต ได้แก่
1.เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน (Savan-Seno SEZ) ก่อตั้งปี 2546 อยู่ในแขวงสะหวันนะเขตฝั่งตรงข้าม จ.มุกดาหาร มีพื้นที่ 5,962 ไร่ รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนด้วยวงเงิน 73 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันลงทุนไปแล้วราว 9 ล้านเหรียญสหรัฐ วางแนวทางการพัฒนาให้เป็นเขตการค้า การบริการ อุตสาหกรรม/แปรรูป โดยมีผู้ลงทุนราว 33 บริษัท ที่เข้ามาจดทะเบียนลงทุนในเขตนี้
2. เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนคำ (Boten Beautiful Land SEZ) ตั้งอยู่ในแขวงหลวงน้ำทา มีพื้นที่ 10,250 ไร่ เป็นเขตบริการ การค้า สร้างขึ้นเมื่อปี 2553 โดยบริษัท ฟ็อกจิ่ง อุตสาหกรรม จำกัด จากประเทศจีน ด้วยวงเงินลงทุน 103 ล้านเหรียญสหรัฐ มุ่งการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและบริการ อาทิ คลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า ศูนย์การค้าครบวงจร แหล่งบันเทิง โรงแรม เพื่อให้เป็นเขตการค้าชายแดนครบวงจร โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนคำ รัฐบาลลาวมีเป้าหมายพัฒนาให้เป็นเมืองใหม่ และเป็นจุดศูนย์กลางที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีที่ตั้งของเมืองอยู่บนเส้นทาง R3A (คุนหมิง-กรุงเทพฯ) ซึ่งอยู่ใกล้เขตชายแดนลาว-จีนตอนใต้ และถือเป็นยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงกับประเทศในกลุ่มอาเซียน และอาเซียน+3 (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น)
3. เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมคำ อยู่ในเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ฝั่งตรงข้าม จ.เชียงราย ซึ่งรัฐบาลลาวได้อนุมัติให้จัดตั้งบนพื้นที่ 18,750 ไร่ เพื่อให้เป็นเขตบริการการค้า การท่องเที่ยว เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี 2553 โดยกลุ่มบริษัทดอกงิ้วคำ จากประเทศจีน ขณะนี้ได้ลงทุนไปแล้วราว 602 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบสร้างสนามบินนานาชาติ
4. เขตเศรษฐกิจเฉพาะภูเขียว ตั้งอยู่ในแขวงคำม่วน ฝั่งตรงข้าม จ.นครพนม เป็นเขตการค้า บริการและอุตสาหกรรมแปรรูป จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 บนพื้นที่ 30,312 ไร่ โดยนักลงทุนลาว วงเงินลงทุน 708 ล้านเหรียญสหรัฐ มีเป้าหมายพัฒนาให้เป็นตัวเมืองใหม่ที่มีความครบวงจรทั้งการบริการ การค้า การศึกษา การท่องเที่ยวโรงพยาบาล โรงงานอุตสาหกรรม ปัจจุบันได้จัดวางผังเมืองเพื่อเตรียมรองรับการก่อสร้าง
5. เขตเศรษฐกิจเฉพาะท่าแขก ตั้งอยู่ในเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 3 นครพนม พื้นที่ 6,468 ไร่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 ซึ่งรัฐบาลลาวเป็นผู้ลงทุน 100% วงเงินลงทุนราว 80 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุน การท่องเที่ยวและบริการ
นครหลวงเวียงจันทน์ผุด 5 แห่ง
สำหรับใน "นครหลวงเวียงจันทน์" กำลังเร่งพัฒนาจำนวน 5 แห่ง คือ
1.เขตเศรษฐกิจพิเศษเวียงจันทน์-ลองแทงค์ (Long Thanh Vientiane SEZ) พื้นที่ 3,486 ไร่ พัฒนาเป็นเขตบริการการค้า การท่องเที่ยว การบริการครบวงจร ตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 โดยกลุ่มบริษัทกอล์ฟลองแทงค์ จากเวียดนาม เป็นผู้ลงทุนด้วยวงเงินราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
2. เขตเศรษฐกิจเฉพาะอุตสาหกรรมและการค้าเวียงจันทน์โนนทอง(Vientiane Industrial & Trade Park : VITA Park) วางเป้าหมายเป็นเขตอุตสาหกรรมแปรรูป พื้นที่ 687 ไร่ เริ่มสร้างเมื่อปี 2554 โดยนักลงทุนจากบริษัท Nam Wei กลุ่มทุนไต้หวันร่วมกับรัฐบาลลาว วงเงินลงทุน 43 ล้านเหรียญสหรัฐ
"นายสีบุญเฮือง เวียงเฮืองไผ่" ประธานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะอุตสาหกรรมและการค้าเวียงจันทน์โนนทองเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้มีเอกชนเข้ามาลงทุนภายในโครงการแล้ว 32 บริษัท จากทั้งหมด 7 ประเทศ คือ มาเลเซีย จีน ไต้หวัน ไทย ลาว ญี่ปุ่น และเดนมาร์ก ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วน และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการส่งออก มีการจ้างงานแล้ว 800 คน ทั้งนี้ตามแผนงานจะรองรับโรงงานได้147 แห่ง เกิดการจ้างงาน 1 หมื่นคน เขตอุตสาหกรรมที่ครบวงจรในแง่การอยู่อาศัย โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม ธนาคาร ศูนย์ฝึกอาชีพ ศูนย์การค้า สิทธิพิเศษที่นักลงทุนจะได้รับ อาทิ การครอบครอง 75 ปี และขยายเวลาต่อได้ เป็นเขตปลอดภาษีนำเข้าและส่งออก ปลอดภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น
3.เขตเศรษฐกิจเฉพาะบึงธาตุหลวง พื้นที่ 2,281 ไร่ ผู้ลงทุนคือกลุ่มบริษัท อสังหาริมทรัพย์ จำกัด จากประเทศจีน วงเงินลงทุน 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ รัฐบาลลาวต้องการพัฒนาให้เป็นเมืองใหม่
4.เขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะดงโพสี สร้างเมื่อปี 2555 พื้นที่ 337 ไร่ เพื่อรองรับการลงทุน การค้า การท่องเที่ยว ที่จะขยายตัวบริเวณชายแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) ลงทุนโดยกลุ่มบริษัท ยูนิเวอร์ซัลแปซิฟิก จำกัด จากมาเลเซีย มีทุนจดทะเบียน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือหุ้น 80% ร่วมกับรัฐบาลลาวในสัดส่วน 15% และนักลงทุนลาวอีก 5%
5.เขตพัฒนาเศรษฐกิจไชยเชษฐา สร้างเมื่อปี 2554 พื้นที่ 6,250 ไร่ พัฒนาให้เป็นเขตอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อการส่งออก ลงทุนโดยบริษัทร่วมทุนลาว-จีน ด้วยวงเงินลงทุน 128 ล้านเหรียญสหรัฐ
เปิด 25 เขตสร้างงาน 5 หมื่นคน
นอกจากนั้นในช่วงปี 2554-2563 รัฐบาลลาวได้ตั้งเป้าที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้ได้อีก 25 เขต โดยอยู่ในขั้นตอนการเจรจาทำสัญญาหลายแห่ง เช่น เขตเวียงจันทน์เนรมิต ก็อบลองแท็ง, เขตการค้าชายแดนลาวบาว, เขตสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 และอยู่ในขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้อีก 10 เขต อาทิ เขตสวนวัฒนธรรม (ดงโพสี), เขตห้วยซอน, เขตมหานทีสีพันดอน,เขตภูเพียง (บริเวณปากช่อง), เขตวังเต่า (แขวงจำปาสัก), เขตคำม่วนแดนคำ (แขวงคำม่วน), เขตด่านน้ำเหือง (แขวงไชยบุรี) เป็นต้น คาดว่าในปี 2563 จะเกิดการจ้างงาน5 หมื่นคน สร้างรายได้ให้แรงงาน 120 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือเฉลี่ย 2,400 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี
ปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะประเทศจีน เวียดนาม เกาหลี มาเลเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ฯลฯ เริ่มให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศลาวมากขึ้น เพราะลาวเป็นประเทศที่อยู่ในจุดกลางกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศต่างๆ ได้ ประกอบกับลาวยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จึงเหมาะที่จะเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก
ขณะที่การเมืองมีเสถียรภาพ มีสิทธิประโยชน์ให้แก่นักลงทุน กฎหมายการค้าการลงทุนมีการปรับปรุงมากขึ้น และรัฐบาลลาวให้การสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติเช่นเดียวกับนักลงทุนในประเทศที่ได้รับความเสมอภาคภายใต้กฎหมายการลงทุนฉบับเดียวกัน
หมวดของข่าว : ลงทุนต่างประเทศ , ลงทุนอาเซียน , ข้อมูลการลงทุน
-
โอกาสทอง "ความงาม-สุขภาพ" เมียนมาร์-กัมพูชา "กำลังซื้อ" ทะลัก
29 กันยายน พ.ศ. 2557 -
The Tanphu Industrial Park at Dongnai Province, Southern of Vietnam.
30 กันยายน พ.ศ. 2557