ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน

เจาะตลาดแรงงานอาเซียน ขุมกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

20 มกราคม พ.ศ. 2558

 

การเดินทางเยือนประเทศฟิลิปปินส์ขององค์สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส แห่งคริสศาสนจักรนิกายโรมันคาธอลิก ทำให้เกิดการถกเถียงขึ้นมาอีกครั้ง ถึงนโยบายด้านสาธารณสุข หลังจากที่รัฐบาลรณรงค์ให้ประชาชนชาวฟิลิปปินส์สามารถทำหมัน และใช้ยาหรืออุปกรณ์คุมกำเนิดได้ ซึ่งขัดกับหลักการของศาสนาประจำชาติฟิลิปปินส์ 

สถิติจากธนาคารโลกใน ปี 2555 ระบุว่า มารดาชาวฟิลิปปินส์ 1 คน เฉลี่ยแล้วมีบุตรถึง 3.08 คน จำนวนประชากรพุ่งทะลุ 100 ล้านคนไปแล้ว ขณะที่อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรตามสถิติปี 2556 อยู่ที่ 1.7% สูงที่สุดในอาเซียนเคียงคู่กับมาเลเซีย 

ส่วนประเทศอื่นๆ ในอาเซียน อินโดนีเซีย มีอัตราการเกิด 2.37 คนต่อมารดาหนึ่งคน อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร 1.2%, มาเลเซียอัตราการเกิด 1.98 คน อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร 1.7%, เมียนมาร์อัตราการเกิด 1.96 คน อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร 0.8%, เวียดนามอัตราการเกิด 1.77 คน อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร 1.0%, ไทยอัตราการเกิด 1.41 คน อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร 0.3%, และสิงคโปร์อัตราการเกิด 1.29 คน อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร 2.4% 

การเพิ่มขึ้นของประชากรในภูมิภาคอาเซียนนั้น ตามรายงานจากเครดิตสวิส ระบุว่า สถิติจากการศึกษาชาติสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ หรือ ASEAN6 (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม) เผยว่า โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 1.14% ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของทวีปเอเชียเล็กน้อย ขณะที่ตลาดแรงงานในภูมิภาคน่าจะขยายตัวราว 1.58%

การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่เข้ามามีบทบาทในภาคแรงงานนี้เอง จะช่วยผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก อาเซียน บรีฟฟิ่ง (ASEAN Briefing) ระบุว่าภายในปี 2568 ประชากรในวัยทำงานจะ คิดเป็นกว่า 68% ของประชากรในอาเซียน ซึ่งหมายถึงการพึ่งพิงสวัสดิการจากภาครัฐที่น้อยลงต่ำกว่า 0.6% ซึ่งสะท้อนให้เห็นความน่าจะเป็นของการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างก้าว กระโดดในช่วงเวลา 20-30 ปีข้างหน้าอินโดนีเซีย ถือเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นตัวอย่างของประเทศที่มีประชากรในวัยทำงานเป็น จำนวนมาก และได้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดราว 6-8% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หลังจากที่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจในประเทศให้มุ่งเน้นการผลิตเพื่อส่งออก แต่อินโดนีเซียยังคงล้มเหลวในการพัฒนาการศึกษา และระบบสาธารณสุขในประเทศ ตลอดจนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในประเทศเพื่อดึงดูดนักลงทุน 

ขณะที่เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งประชากรจำนวนมากกำลังจะเข้าสู่วัยทำงานในช่วงปี 2563 เป็นต้นไป มีแนวโน้มจะได้เห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในเวียดนาม หลังจากที่มีการปฏิรูปตลาดเสรีดึงแรงงานเข้ามาทำงานมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลก็สามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนของสวัสดิการ และเตรียมเพิ่มการพัฒนาในด้านการศึกษาและสาธารณสุข

ส่วนฟิลิปปินส์ ซึ่งได้อานิสงส์จากการขยายตัวของแรงงานเช่นกัน ก็เริ่มปรับนโยบายการเงินและการคลังเพื่อต้อนรับนักลงทุนต่างชาติ โดยหากฟิลิปปินส์ประสบความสำเร็จในการเพิ่มการลงทุนจากต่างชาติได้กว่า 30% ฟิลิปปินส์น่าจะดึงแรงงานสู่ภาคการผลิต และมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 7% ต่อปี 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับในอดีต อัตราการเติบโตของประชากรในกลุ่มประเทศ ASEAN6 มีแนวโน้มต่ำลง โดยเฉพาะในประเทศไทย แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เช่น จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ขณะที่ไทยเป็นประเทศเดียวที่มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรในวัยทำงานลดลง และมีประชากรในวัยชราเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับสิงคโปร์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ประเทศไทยจะมีประชากรที่ต้องพึ่งพิงสวัสดิการ ภาครัฐเพิ่มขึ้นในอนาคต 

ในส่วนของแรงงานอพยพ พบว่าส่วนใหญ่ไม่ค่อยย้ายมาทำงานในอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ขณะที่ในมาเลเซียและไทย แม้จะมีแรงงานย้ายเข้ามาจำนวนหนึ่ง แต่ก็กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อภาคเศรษฐกิจในระดับต่ำ ส่วนสิงคโปร์ ซึ่งถึงแม้จะเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดของประชากรในภูมิภาคอาเซียนน้อยที่สุด 

แต่กลับมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงสุด เนื่องจากผู้ที่ย้ายเข้ามาใหม่จากต่างประเทศ มีประชากรในวัยแรงงานที่มีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจกว่า 49% 

ต้องไม่ลืมว่า ประชาชนในอาเซียนส่วนใหญ่นั้นยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท และประกอบอาชีพด้านการเกษตรหลัก ช่วงที่ผ่านมามีประเด็นเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในเกือบทุกประเทศอาเซียน หลายประเทศเป็นครอบครัวขยาย จึงมีรายได้แฝงจากการทำงานที่ไม่เสียภาษี 

สถิติจากปี 2543 ระบุว่า แรงงานเกินครึ่งในอาเซียนทำงานผิดกฎหมาย โดยในลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมาร์สูงกว่า 65% ตามด้วยไทย (52.6%) มาเลเซีย (31.1%) ฟิลิปปินส์ (43.4%) และสิงคโปร์ (13.1%)

เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และไม่ปล่อยให้โอกาสในการเพิ่มผลิตภาพของแรงงานในประเทศสูญเปล่า ชาติอาเซียนควรต้องมุ่งลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การศึกษา และสวัสดิการ เพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะขาดสมดุลแรงงานในประเทศ จนเกิดเป็นปัญหาว่างงานและไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ดั่งที่เห็นจากตัวอย่างในสหภาพยุโรป ที่แม้ว่าจะมีแรงงานที่มีคุณภาพ แต่หากไม่มีการลงทุนและการกระตุ้นจากภาครัฐมากเท่าที่ควร แรงงานเหล่านี้ก็จะต้องกลับมาพึ่งพิงสวัสดิการจากรัฐ

 

Cr:http://m.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1421512536