ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน

มาเลเซีย-ซุ่มผลิตแผงโซลาร์ ครองเบอร์ 3 โลก

9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ประเทศมาเลเซีย ได้กลายเป็นผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่อันดับ 3 ของโลกไปแล้ว 

หลังจากมีบริษัทต่างชาติ แห่ไปลงทุนตั้งโรงงาน เพื่อผลิตแผงโซลาร์ส่งไปขาย ตลาดอเมริกา และยุโรป หลังเกิดศึกกีดกันการค้า แผงโซลาร์ ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส รายงานว่าบริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์จากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป และเกาหลี ได้แห่เข้าไปตั้งโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในมาเลเซีย เพื่อผลิตสินค้าส่งไปขายอเมริกาและยุโรป หลังจากที่สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการกีดกันแผงโซลาร์เซลล์จากจีนด้วยกำแพงภาษี ส่วนยุโรปใช้วิธีจำกัดโควตานำเข้าจากจีน

รายงานข่าวระบุว่า บริษัทที่เข้าไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในมาเลเซียแล้วมีอาทิ บริษัท ซันเอดิสันฯ, บริษัท ฮันฮวา คิว เซลล์สฯ, ชาร์ปฯ, ซันพาวเวอร์ฯ, เฟิสท์โซลาร์ และโซเล็กเซลฯ ซึ่งเป็นบริษัทเกิดใหม่จากซิลิคอน วัลเลย์ ซึ่งอยู่ในขั้นสร้างโรงงานด้วยงบลงทุน ประมาณ 25,920 ล้านบาท

โดยสิ่งที่ดึงดูดให้บริษัทยักษ์แผงโซลาร์เซลล์โลก เข้าไปลงทุนในมาเลเซีย คือวิศวกรท้องถิ่นที่พูดภาษาอังกฤษได้ดี ค่าแรงถูก และการสนับสนุนทางภาษีจากรัฐบาล

นิวยอร์กไทม์สระบุว่า การลงทุนจากต่างชาติทำให้มาเลเซีย กลายเป็นผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์อันดับ 3 ของโลกรองจากประเทศจีนและอียู ถึงแม้ว่ายังมีปริมาณการผลิตที่ห่างจากประเทศจีนมาก แต่กำลังไล่กวดสหภาพยุโรปมาติด ๆ และคาดว่าจะเลื่อนอันดับขึ้นมาอีก เนื่องจากสหรัฐอเมริกา ยังมีแนวโน้มออกมาตรการกีดกันแผงโซลาร์เซลล์จากจีนอย่างต่อเนื่อง

สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการกีดกันการค้าแผงโซลาร์เซลล์จากจีนหลังจากที่ผู้ผลิตจีน ส่งสินค้าไปทุ่มตลาดสหรัฐอเมริกาจนผู้ผลิตอเมริกัน ไม่สามารถแข่งขันได้ และ อเมริกากล่าวหาว่าจีนอุดหนุนผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ท้องถิ่นด้วยการให้แบงก์รัฐ ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แก่ผู้ผลิตอย่างไม่อั้น และยังให้ที่ดินตั้งโรงงานโดยไม่คิดค่าเช่าทำให้จีนสามารถส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต

ความเห็นจากโฆษกบริษัท ฮันฮวา คิว เซลล์ส บริษัทเกาหลีใต้เชื้อสายเยอรมนี กล่าวว่า บริษัทผลิตแผงโซลาร์เซลล์ จากมาเลเซียนั้นเหนือกว่าเพราะใช้ผลิตไฟฟ้าได้ 1,100 เมกะวัตต์ ขณะที่ในเยอรมนี ผลิตได้เพียง 200 เมกะวัตต์ 

นิวยอร์กไทม์ส ระบุว่าการที่บริษัทอเมริกัน สร้างโรงงานในประเทศมาเลเซียแทนที่จะขยายโรงงานในสหรัฐอเมริกา จากการที่รัฐช่วยกันสินค้าจากประเทศจีน ทำให้ชาวอเมริกันไม่พอใจ แต่บริษัทอเมริกันก็เลือกลงทุนในมาเลเซียเนื่องจากทำต้นทุนได้ต่ำกว่าและมีความยืดหยุ่นในการส่งสินค้าไปขายในหลายประเทศมากกว่า

ทำให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในมาเลเซียอยู่อัตราที่สูงกว่าการขยายตัวในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ นอกจากจะผลิตสินค้าขายประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปแล้ว ยังสามารถผลิตเพื่อป้อนโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในมาเลเซียและญี่ปุ่นด้วย

CR:http://www.krobkruakao.com/