ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน
The Next Thailand (and beyond)
14 พฤษภาคม พ.ศ. 2558โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ผมเพิ่งกลับจากการไปสำรวจภาวะการลงทุนและเยี่ยมเยียนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเวียตนามที่เมืองโฮจิมินซิตี้ การไปเวียตนามในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองของผมหลังจากครั้งแรกที่ผมไปกับทางมันนีแชนแนลเมื่อซักหนึ่งถึงสองปีที่ผ่านมา การไปครั้งนี้ เป็นการ “ไปกันเอง” ของกลุ่ม VI “อาวุโส” ประมาณเกือบ 20 คน หลายคนมีเงินลงทุนในเวียตนามบ้างแล้ว และเกือบทุกคนกำลังดูว่าอาจจะไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามหลังจากที่เห็นว่าโอกาสลงทุนในตลาดหุ้นไทยลดน้อยลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ คุณภาพของบริษัทจดทะเบียน และราคาหุ้นอาจจะแพงเกินไป และต่อไปนี้ก็คือข้อสังเกตของผมซึ่งก็อิงจากการได้ไปเห็นบ้านเมืองและพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนรวมทั้งได้ศึกษาข้อมูลและประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ
ข้อสรุปหลัก ๆ ของผมก็คือ เศรษฐกิจ สังคม และสภาวะแวดล้อมหรือภาพใหญ่ของเวียตนามในขณะนี้คล้าย ๆ กับของประเทศไทยเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว และเวียตนามกำลังจะเติบโตอย่างรวดเร็วแบบเดียวกับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา แม้แต่ฉายาของการเป็น “เสือแห่งเอเซีย” ที่ไทยเคยได้รับเราก็อาจจะได้เห็นว่าเวียตนามก็จะได้รับฉายาในทำนองคล้าย ๆ กัน พูดอีกแบบหนึ่ง ผมคิดว่าเวียตนามก็คือ “The Next Thailand” หรือจะเป็นประเทศไทยรายต่อไป เพียงแต่ผมคิดว่า เวียตนามในอนาคตอาจจะโตจนเท่าและ “ผ่าน” ประเทศไทยได้ถ้าเวียตนามยังรักษานโยบายและแนวทางที่ดีต่อการเติบโตในปัจจุบันต่อไปได้เรื่อย ๆ ในขณะที่ไทยไม่แก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่มีอยู่ในขณะนี้
ถ้ามองย้อนกลับไปซัก 40 ปี ซึ่งเป็นปีที่โฮจิมินแตกเวียตนามใต้กลายเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียโดยเฉพาะในอาเซียนนั้นน่าจะพอ ๆ กัน แต่หลังจากนั้น สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ซึ่งใช้นโยบาย “เปิดประเทศ”และระบบเศรษฐกิจเป็นแบบตลาดเสรีในขณะที่การเมืองนั้นแม้ไมใช่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลไปเรื่อย ๆ สลับไปมาระหว่างกลุ่มอำนาจหลัก ๆ ก็สามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างน่าประทับใจ เหตุผลหรือปัจจัยที่ทำให้ไทยรวมถึงมาเลเซียเติบโตเร็วมากนั้น ผมคิดว่าเป็นเพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงและมีกระแสโลกานุวัตรสูง ญี่ปุ่นซึ่งได้เปรียบดุลการค้ากับโลกตะวันตกมหาศาลถูกบังคับให้เพิ่มค่าเงินเยนซึ่งทำให้สินค้าราคาถูกที่ใช้แรงงานสูงไม่สามารถแข่งขันได้จึง “ย้ายฐานการผลิต” จากญี่ปุ่นไปสู่ประเทศที่มีค่าแรงถูกและมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน และประเทศที่ว่าก็คือ มาเลเซียกับไทย
ประเทศเวียตนาม กัมพูชา ลาว นั้นเป็นสังคมนิยมที่เข้มข้น ดังนั้น ไม่สามารถที่จะรองรับการลงทุนได้ พม่าเองปกครองโดยเผด็จการทหารที่กองทัพคุมรัฐบาล อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์นั้นอยู่ภายใต้เผด็จการซูฮาร์โตและมาร์คอสยาวนาน ทั้งหมดนั้นญี่ปุ่นหรือโลกตะวันตกไม่อยากเข้ามาลงทุนและทำให้ประเทศไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร พูดง่าย ๆ ประเทศที่ระบบการปกครองเป็นแบบ“ปิด” นั้น โตยาก ประเทศที่จะเจริญเติบโตได้ดีนั้น ผมคิดว่าต้องมีปัจจัยสำคัญ 3-4 ประการก็คือ หนึ่ง ระบบต้องเอื้ออำนวยนั่นก็คือเป็นระบบเปิดที่ต้อนรับต่างชาติหรือเปิดให้คนสามารถแสดงความสามารถได้เต็มที่ซึ่งระบบที่ดีที่สุดน่าจะเป็นระบบเสรีประชาธิปไตย สอง คนต้องมีคุณภาพหรือมี IQ สูงพอ สาม จำนวนคนและอายุของประชากรในวัยทำงาน และสี่ก็คือ ทรัพยากรภายในประเทศ ดังนั้น ประเทศที่กล่าวถึงทั้งหมดจึงเริ่ม “ล้าหลัง” มาเลเซียและไทยกลายเป็น “เสือแห่งเอเซีย” จากการลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตะวันตกและญี่ปุ่นโดยมีคู่แข่งน้อยเนื่องจากประเทศอื่นไม่พร้อม
เวลาผ่านไปเกือบ 10-20 ปี ประเทศต่าง ๆ ในเอเซียเริ่มตระหนักว่าระบบการปกครองที่ผิดพลาดทำให้ประเทศล้าหลัง ประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยมหรือแบบอื่นเริ่มเปลี่ยนแปลง ระบบเศรษฐกิจกลายเป็นทุนนิยมและเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ นำโดยจีน ต่อมาเวียตนาม ลาวกัมพูชาก็ตาม หลังจากนั้นระบบเผด็จการมาร์คอสและซูฮาร์โตก็ “ล่มสลาย” และสุดท้ายระบบทหารแบบเมียนมาร์ก็กำลังผ่อนคลายลง นักลงทุนจากตะวันตกและประเทศที่ก้าวหน้าอย่างญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน จึงเริ่มมีตัวเลือกมากขึ้น และด้วยการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ รวมถึงคุณภาพของคน ค่าแรง และสาธารณูปโภค และตลาดท้องถิ่น พวกเขาก็เริ่มเข้าไปลงทุนในประเทศที่ “ล้าหลัง” เหล่านั้นเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศดังกล่าวนั้นรู้ว่าตนเองยังด้อยกว่าก็เสนอเงื่อนไขในการลงทุนที่ดีกว่าประเทศที่เจริญมาก่อน ผลก็คือ เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นก็เริ่ม “เดินหน้า” การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะหลัง ๆ นี้เพิ่มขึ้นอย่างน่าประทับใจปีละ 5-7% เป็นอย่างต่ำ ในขณะที่ของไทยช้าลงมากโดยเฉพาะในช่วง 5-10 หลังนี้
ระดับการพัฒนาของเวียตนามเวลานี้อยู่ที่ประมาณเท่ากับเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนหรือประมาณช่วงที่เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤตในปี 2540 ตัวเลขการมีเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ทีวี พัดลม ตู้เย็น เครื่องซักผ้าต่อครอบครัวของเขาเวลานี้พอ ๆ กับตัวเลขที่คนไทยมีเมื่อ 20 ปีก่อน รถยนต์และแอร์อาจจะเท่ากับ 25-30 ปีแต่ผมคิดว่าจะเพิ่มขึ้นเร็วมาก ส่วนมอเตอร์ไซต์นั้น เวลานี้เขาน่าจะมีมากกว่าของเราในเวลานี้ด้วยซ้ำเนื่องจากมันเป็นพาหนะหลักในการเดินทางของทุกคนในเวียตนาม ในส่วนของการผลิตซึ่งเน้นที่การส่งออกนั้น เวียตนามก็ใช้กลยุทธเดียวกับของไทยเมื่อ 20 ปีก่อนนั่นก็คือ ส่งเสริมให้ต่างชาติมาลงทุนและผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ตัวเลขการส่งออกนั้นเติบโตเร็วมากปีละหลายสิบเปอร์เซ็นต์จนเวลานี้คิดแล้วการส่งออกน่าจะไม่ต่ำกว่า 80% ของ GDPซึ่งสูงกว่าของไทย ว่าที่จริงปริมาณการส่งออกไปอเมริกาของเวียตนามนั้นสูงกว่าของไทยไปแล้ว แม้แต่ในยามที่การส่งออกกำลังชะลอตัวทั่วโลกในช่วงนี้ การส่งออกของเวียตนามก็ยังโตเป็นเลขสองหลัก กระแสนี้น่าจะยังดำเนินต่อไปเพราะการลงทุนโดยตรงของเวียตนามยังมาแรงมาก บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกเช่นซัมซุงเลือกเวียตนามมากกว่าไทยแล้ว
เมื่อดูไป เวียตนามนั้นเหมือนไทยมาก เราอยู่ในเขตภูมิอากาศเขตร้อนใกล้เคียงกัน ขนาดของประเทศก็พอ ๆ กัน ความสมบูรณ์ของที่ดินก็น่าจะใกล้กันและอุดมไปด้วยน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูก คนเวียตนามเองก็เป็นคนที่ “ยืดหยุ่น” ไม่ “สุดโต่ง” วัฒนธรรมและเชื้อชาติก็น่าจะเป็น “2 ใน 3 จีน” ในขณะที่คนไทยก็อาจจะเป็น “ครึ่งจีน” ด้านศาสนาเองก็คงคล้าย ๆ คนไทยที่บางทีผมก็งง ๆ แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวทางเศรษฐกิจ ว่าที่จริง ถ้ามาเดินในห้างร่วมกันเราก็คงไม่สามารถแยกได้ว่าคนไหนเป็นไทยหรือเวียตนามทั้งด้านหน้าตา ความสูงและรูปร่างรวมถึงอากับกริยาต่าง ๆ
มีจุดหนึ่งที่ผมคิดว่าเวียตนามจะได้เปรียบไทยในระยะยาวก็คือ คนเวียตนามมี IQ สูงกว่าไทยในการศึกษาเรื่อง IQ ระดับสากลทุกครั้ง นอกจากนั้น เวียตนามมีประชากรถึง 90 ล้านคนและยังเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วในขณะที่ไทยมี 67 ล้านคนและเพิ่มขึ้นน้อยและอาจจะลดลงในอนาคต ส่วนจุดอ่อนก็คือ ระบบสาธารณูปโภคในปัจจุบันยังไม่ดีนัก การเดินทางด้วยรถยนต์ในเมืองและต่างจังหวัดช้ามากประมาณไม่เกิน 30-40 ก.ม. ต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้น่าจะได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ ระดับการพัฒนาของเวียตนามจะไล่กวดไทยอย่างรวดเร็วมาก เพราะปัจจัยในการแข่งขันของเวียตนามกำลังดีขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ไทยกลับด้อยลง เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกำลังคนที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็วและระบบการปกครองและภาพใหญ่อื่น ๆ ที่ดูเหมือนจะ “ถอยหลัง” ในช่วงเร็ว ๆ นี้ ความรู้สึกจากทริปเวียตนามครั้งนี้ในด้านของร่างกายก็คือร้อนมาก เพราะมันเป็นกลางฤดูร้อน แต่ในใจในฐานะที่เป็นคนไทยและจะต้องแข่งกับเวียตนามนั้น ผมรู้สึก “หนาว” อย่างบอกไม่ถูก
CR:https://www.settrade.com/blog/nivate/2015/05/11/1565
-
Ottawa keen to boost trade and investment in the Philippines
15 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 -
Boost for Widodo as investment in Indonesia picks up to record
18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 -
Baidu Inc (ADR) Boosts Investment In Indonesia
19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 -
PHL aims for "A" rating as S&P maintains investment grade
20 พฤษภาคม พ.ศ. 2558