ข้อมูลประเทศเป้าหมาย
ประเทศ สิงคโปร์
ชื่ออย่างเป็นทางการ
สาธารณรัฐสิงคโปร์ หรือ Republic of Singapore
ที่ตั้ง
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเกาะระหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย
พื้นที่
ประกอบด้วยเกาะสิงคโปร์และเกาะใหญ่น้อยบริเวณใกล้เคียง 63 เกาะ มีพื้นที่ รวมทั้งสิ้น 692.7 ตารางกิโลเมตร (ประมาณเกาะภูเก็ต) ส่วนที่เป็นพื้นดินมีพื้นที่ 682.7 ตารางกิโลเมตร ส่วนที่เป็นพื้นน้ำเท่ากับ 10 ตารางกิโลเมตร เกาะสิงคโปร์เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมีความยาวจากทิศตะวันตกไปตะวันออกประมาณ 42 กิโลเมตร และความกว้างจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ประมาณ 23 กิโลเมตร ความยาวชายฝั่งทั้งหมด 193 กิโลเมตร
สภาพภูมิประเทศ
พื้นที่ต่ำ ตอนกลางของประเทศมีพื้นที่เป็นคลื่น มีอ่างเก็บน้ำและแหล่งอนุรักษ์ธรรมชาติ
สภาพภูมิอากาศ
อากาศเขตร้อน: อากาศร้อน ชื้น ฝนตก มี 2 ฤดู ได้แก่ ฤดูที่มีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ธันวาคม-มีนาคม) และฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (มิถุนายน-กันยายน) และมีพายุฝนฟ้าคะนองในตอนกลางวันและช่วงเย็น
ทรัพยากรธรรมชาติ
ปลา ท่าเรือน้ำาลึก
ภัยธรรมชาติ
ไม่มี
จำนวนประชากร
5,353,494 คน (ค่าประมาณ เดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2555)
อัตราการเติบโตของประชากร
1.933% (ค่าประมาณ พ.ศ. 2555)
สัญชาติ
สิงคโปร์ (Singaporean (s))
เชื้อชาติ
ประกอบด้วยชาวจีน (76.5%) ชาวมาเลย์ (13.8%) ชาวอินเดีย (8.1%) และอื่น ๆ (1.6%)
ศาสนา
พุทธ (42.5%) อิสลาม (14.9%) คริสต์ (14.5%) ฮินดู (4%) ไม่นับถือศาสนา (25%)
ภาษา
อังกฤษ มาลายู จีนกลาง ทมิฬ (มาลายูเป็นภาษาประจำชาติ อังกฤษเป็นภาษาราชการ)
รูปแบบการปกครอง
สาธารณรัฐ (ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีสภาเดียว)
เมืองหลวง
สิงคโปร์ (Singapore)
การแบ่งเขตการปกครอง
-
วันที่ได้รับเอกราช
วันที่ 9 สิงหาคม 2508 จากสหพันธรัฐมาเลเซีย
รัฐธรรมนูญ
3 มิถุนายน พ.ศ. 2502 แก้ไขในปี พ.ศ. 2508
ฝ่ายบริหาร
ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งในระบบคะแนนนิยม วาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี โดยทั่วไป หลังจากการเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ประธานาธิบดีจะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี จากผู้นำพรรคการเมืองเสียงข้างมากหรือผู้นำคณะรัฐบาลผสม
ฝ่ายนิติบัญญัติ
ระบบสภาเดียว (Unicameral Parliament) จำนวน 87 ที่นั่ง สมาชิกมาจากการเลือกตั้งในระบบคะแนนนิยม วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี
ฝ่ายตุลาการ
ศาลฎีกา (ผู้พิพากษาศาลสูงสุด (Chief Justice) มาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี โดยได้รับคำแนะนำจากนายกรัฐมนตรี ผู้พิพากษาคนอื่นๆ ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี โดยได้รับคำแนะนำจากผู้พิพากษาสูงสุด) และศาลอุทธรณ์ (Court of Appeals)
ระบบกฎหมาย
ระบบกฎหมายจารีตประเพณีอังกฤษ (English Common Law)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP)
222.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ค่าประมาณ พ.ศ. 2553 )
GDP รายบุคคล
62,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ค่าประมาณ พ.ศ. 2553)
อัตราการเจริญเติบโต GDP
14.5% (ค่าประมาณ พ.ศ. 2553)
GDP แยกตามภาคการผลิต
-
ภาคการเกษตร 0%
-
ภาคอุตสาหกรรม 28.3%
-
ภาคการบริการ 71.7% (ค่าประมาณ พ.ศ. 2553)
อัตราการว่างงาน
2.2% (ค่าประมาณ พ.ศ.2553)
อัตราเงินเฟ้อ (Consumer Prices)
2.8% (ค่าประมาณ พ.ศ. 2553)
ผลผลิตทางการเกษตร
ยาง เนื้อมะพร้าวแข็ง ผลไม้ กล้วยไม้ ผัก สัตว์ปีก ไข่ ปลา
อุตสาหกรรม
อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ การบริการทางการเงิน อุปกรณ์การขุดเจาะน้ำมัน การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม การแปรรูปและผลิตภัณฑ์ยาง การแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม การซ่อม วิทยาศาสตร์ชีวภาพ ศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้า
อัตราการเติบโตภาคอุตสาหกรรม
29.7% (ค่าประมาณ พ.ศ. 2553)
ภาคการผลิต
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ชีวศาสตร์การแพทย์วิศวกรรมเครื่องมือวัด (precision engineering) วิศวกรรมขนส่ง (transport engineering) และ อุตสาหกรรมผลิตสินค้าทั่วไป (general manufacturing industries)
ภาคการบริการ
อุตสาหกรรมบริการทางสายอาชีพและการบริการสำนักงานในส่วนภูมิภาค การบริการข้อมูลและการสื่อสาร Logistics การบริการทางวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม การธนาคาร การศึกษาและการบริการทางชีวศาสตร์การแพทย์
ดุลบัญชีเดินสะพัด
46.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ค่าประมาณ พ.ศ. 2553)
มูลค่าการส่งออก
358.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ค่าประมาณ พ.ศ. 2553)
สินค้าส่งออก
เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์พลาสติก กระดาษ กระดาษแข็ง
ประเทศคู่ค้า (ส่งออก)ที่สำคัญ
มาเลเซีย 12.2% ฮ่องกง11% จีน 10.4% อินโดนีเซีย 10.4% สหรัฐอเมริกา 5.4% ญี่ปุ่น 4.5% (ค่าประมาณ พ.ศ. 2554)
มูลค่าการนำเข้า
310.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ค่าประมาณ พ.ศ.2553)
สินค้านำเข้า
เครื่องคอมพิวเตอร์ สินค้าเกษตรและอาหาร น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
ประเทศคู่ค้า (นำเข้า)ที่สำคัญ
มาเลเซีย 10.7% สหรัฐอเมิรกา10.7% จีน 10.4% ญี่ปุ่น 7.2% เกาหลีใต้ 5.9% ไต้หวัน 5.9% (ค่าประมาณ พ.ศ. 2544)
สกุลเงิน
ดอลลาร์สิงคโปร์ (Singapore Dollar) - SGD
ด้านการทูต
ไทยและสิงคโปร์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2508 ความสัมพันธ์ได้ดำเนินมาอย่างราบรื่นมาตลอด 40 ปี และได้พัฒนาไปเป็นลักษณะ "หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์" ในการดำเนินการเชิงรุกในภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ อาทิ การเร่งรัดรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนตามแนวทาง 2+X และความร่วมมือเพื่อลดช่องว่างทางการพัฒนาแก่ประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน (กัมพูชา ลาว เวียดนามและพม่า)
ไทยและสิงคโปร์มีจุดแข็งและมีศักยภาพที่เอื้อประโยชน์ต่อกันเป็นอย่างดี ไทยมีทรัพยากรธรรมชาติ มีแรงงานจำนวนมากและมีพื้นที่กว้างใหญ่ ส่วนสิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่น้อย แต่มีความก้าวหน้าทางด้านทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมระดับสูง จึงได้มีการนำจุดแข็งของทั้งสองประเทศมาใช้ร่วมกันจนนำไปสู่การส่งเสริมความสัมพันธ์และการพัฒนาร่วมกันที่ยั่งยืน
ปัจจุบัน นายเฉลิมพล ทันจิตต์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐสิงคโปร์และนายปีเตอร์ ชาน เจ่อ ฮิง (Peter Chan Jer Hing) เป็นเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทยคนใหม่แทนนายชาน เฮง วิง (Chan Heng Wing) [ นายเฉลิมพล ทันจิตต์ รับตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2548 ขณะที่นายปีเตอร์ ชานได้เดินทางมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2548 ]
ด้านการเมืองและความมั่นคง
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ อาทิ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในระดับผู้นำของทั้งสองประเทศ (เนื่องจากมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ การรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนและประเด็นระหว่างประเทศที่คล้ายกัน) เสถียรภาพทางการเมืองของทั้งสองประเทศซึ่งมีส่วนช่วยสร้างความต่อเนื่องทางนโยบายและความร่วมมือระหว่างกัน
ไทยกับสิงคโปร์มีกลไกความร่วมมือทวิภาคี ได้แก่
(1) การประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับสิงคโปร์(Prime Ministerial Retreat)
เป็นผลจากการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับสิงคโปร์ในระหว่างการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ (นายโก๊ะ จ๊ก ตง) เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2546 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความคุ้นเคยระดับผู้นำและรัฐมนตรีของไทยกับสิงคโปร์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นด้านทวิภาคี ภูมิภาคและระหว่างประเทศที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ/เป็นห่วงร่วมกันอย่างตรงไปตรงมา การประชุม Prime Ministerial Retreat ได้ประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 10-12 มกราคม 2546 ที่จังหวัดภูเก็ต วันที่ 5-7 กันยายน 2546 ที่เกาะ Sentosa สิงคโปร์ และล่าสุดเมื่อวันที่ 2-3 กันยายน 2548 ที่จังหวัดเชียงใหม่
(2) คณะกรรมาธิการบริหารร่วมด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศระหว่างกองทัพไทย-สิงคโปร์
เพื่อติดตามความก้าวหน้าและแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงของทั้งสองประเทศ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพทั้งสองประเทศอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกองทัพเรือไทย-สิงคโปร์ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพเรือของทั้งสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการฝึกและการซ้อมรบร่วมกัน โดยไทยอนุญาตให้สิงคโปร์ใช้พื้นที่ในการฝึกและมีการฝึกบุคลากรทหารร่วมกัน อาทิ การฝึกร่วมผสม (Cobra Gold) รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านความมั่นคงอย่างสม่ำเสมอ อาทิ พล.อ.วินัย ภัททิยะกุล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติได้รับเชิญให้ไปร่วมสังเกตการณ์ปฏิบัติการการรับมือกับเหตุการณ์การก่อการร้ายที่สถานีรถไฟใต้ดินของสิงคโปร์ภายใต้รหัส Exercise Northstar เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2549 ซึ่งเป็นการจำลองเหตุการณ์จากการก่อวินาศกรรมที่กรุงลอนดอนเมื่อเดือนมิถุนายน 2548 และศาสตราจารย์ เอส จายากูมาร์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการกฎหมายและรัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการความมั่นคงเยือนไทยเพื่อแนะนำตัวเมื่อวันที่ 13-16 กุมภาพันธ์ 2549
ด้านการค้า
สิงคโปร์เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 ของไทย (รองจากสหรัฐ ฯ ญี่ปุ่น และจีน) ไทยเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 7 ของสิงคโปร์ ในปี 2548 การค้ารวมระหว่างไทยกับสิงคโปร์มีมูลค่า 12,881 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของไทยไปยังสิงคโปร์มีมูลค่า 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 5379.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 2,120.8 ล้านดอลลร์สหรัฐ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2545-2548) มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสิงคโปร์ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ปี 2546-2547 มูลค่าลดลงร้อยละ 16.5) น้ำมันสำเร็จรูป (เพิ่มขึ้นร้อยละ 114.7) แผงวงจรไฟฟ้า (เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.7) และส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3) ตามลำดับ[ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์]
ด้านการลงทุน
สิงคโปร์เป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมากเป็นอันดับที่ 6 (รองจากญี่ปุ่น มาเลเซีย ไต้หวัน สวิตเซอร์แลนด์และเนเธอร์แลนด์) ในปี 2548 สิงคโปร์ได้ยื่นโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 82 โครงการแก่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งได้รับการอนุมัติ 69 โครงการในมูลค่า 14,421.5 ล้านบาท (ปี 2547 มีมูลค่า 18,238.6 ล้านบาท) ส่วนใหญ่อยู่ในสาขาสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า การบริการ การโรงแรม การขนส่ง การให้บริการทางการเงินและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สาขาผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร พร้อมทั้ง มีความสนใจที่จะลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมการผลิตยา และอุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี ทั้งนี้ หากพิจารณาจากมุมมองของสิงคโปร์ การลงทุนของสิงคโปร์ในไทยยังมีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับการลงทุนรวมของสิงคโปร์ในต่างประเทศ ประเทศที่สิงคโปร์ไปลงทุนมากที่สุด ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร
ด้านการท่องเที่ยว
ชาวสิงคโปร์มีทัศนคติที่ดีต่อประเทศไทยและคนไทย ในเดือนมกราคม-กันยายนปี 2548 มีนักท่องเที่ยวสิงคโปร์เดินทางมาประเทศไทยจำนวน 450,836 (มีสัดส่วนร้อยละ 5.48 ของตลาดการท่องเที่ยวไทย) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2547 ในจำนวน 398,438 คน ขณะที่นักท่องเที่ยวจากไทยเดินทางไปสิงคโปร์จำนวน 379,000 คน (ปี 2548) (ในปี 2548 สิงคโปร์รับนักท่องเที่ยวจำนวน 8.9 ล้านคน ซึ่งได้นำรายได้เข้าประเทศประมาณ 10.8 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์)[ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และการท่องเที่ยวแห่งสิงคโปร์ ]
กลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ได้แก่
Singapore-Thailand Enhanced Economic Relations (STEER) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2545 เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในอุตสาหกรรม 5 สาขา ได้แก่ การเกษตรและอาหาร การท่องเที่ยว การบริการทางการเงิน อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนประกอบยานยนต์และการขนส่ง และเป็นการนำร่องการรวมตัวทางเศรษฐกิจในกรอบอาเซียนตามแนวทาง 2+X สิงคโปร์ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม STEER ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25-27 สิงหาคม 2546
ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม STEER ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2548 ซึ่ง เห็นชอบให้เพิ่มปริมาณการค้า การลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศที่สามเป็น 2 เท่าของตัวเลขในปัจจุบันภายในปี 2553 และส่งเสริมความร่วมมือด้านสินค้าอาหารและเกษตร การขนส่งและโลจิสติกส์ และอสังหาริมทรัพย์ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนของทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจจำนวน 12 ฉบับ อาทิ ความตกลงเพื่อการคุ้มครองด้านการลงทุนระหว่างไทยกับสิงคโปร์
ด้านสังคม วัฒนธรรมและการศึกษา
กลไกความร่วมมือ ได้แก่
(1) โครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานข้าราชการพลเรือนไทย-สิงคโปร์ (Thailand-Singapore Civil Service Exchange Programme-CSEP)
ซึ่งตั้งเมื่อปี 2541 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้หน่วยราชการไทยและสิงคโปร์มีโอกาสพบปะอย่างใกล้ชิดและสร้างความคุ้นเคยระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความใกล้ชิดและความเป็น "หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์" ระหว่างกันมากขึ้นจนนำไปสู่การขยายความร่วมมือที่ดีต่อไป รูปแบบของการประชุมคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วมกล่าวเปิดการประชุมและปลัดกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานการประชุมเต็มคณะ ในปัจจุบันไทยกับสิงคโปร์มี 12 สาขาความร่วมมือภายใต้ CSEP อาทิ การศึกษา แรงงาน วิชาการ สาธารณสุข และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี CSEP ได้มีการประชุมไปแล้ว 7 ครั้ง ล่าสุดที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม -2 สิงหาคม 2548
ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
สิงคโปร์ได้เป็นประเทศแรกๆ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยต่อกรณีพิบัติภัยที่ภาคใต้ของประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2547 โดยได้ส่งเครื่องบิน C -130 พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ค้นหาและกู้ภัยจำนวน 23 คนจาก Singapore Civil Service Defence Force และยาเวชภัณฑ์ ผ้าห่ม อาหารแห้ง รวม 13 ตัน รวมทั้ง ส่งเฮลิคอปเตอร์ 4 ลำ (Super Pumas 2 ลำ Chinooks 2 ลำ) เพื่อช่วยค้นหาและกู้ภัย รวมทั้งได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านชันสูตรศพจำนวน 4 คน ไปยังจังหวัดภูเก็ต เพื่อพิสูจน์ศพผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 สิงคโปร์ได้ให้ความช่วยเหลือในรูปสิ่งของแก่ผู้ประสบอุทกภัยในภาคเหนือ รวมมูลค่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ และได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ Chinook ของกองทัพอากาศสิงคโปร์ซึ่งฝึกบินในประเทศไทยให้ความช่วยเหลือในภารกิจกู้ภัยที่จังหวัดพิษณุโลก
การเยือนระดับสูง
ฝ่ายไทย
(1) พระบรมวงศานุวงศ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- เสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2493 2494 และ 2505
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- เสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฎาคม 2542
- เสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์เพื่อทรงทำการบิน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
- เสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 12-14 พฤษภาคม 2547
- เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นการส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 10-12 กันยายน 2547
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
- เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 12-17 เมษายน 2543 และวันที่ 22-25 มิถุนายน 2543
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์
- เสด็จ ฯ เยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์เพื่อทรงเข้าร่วมการแข่งขันแบดมินตัน Cheers Asian Satellite Badminton Championships 2005 ระหว่างวันที่ 5-11 กันยายน 2548
(2) รัฐบาล
นายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร)
- เยือนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 20-23 สิงหาคม 2544
- เข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับสิงคโปร์ ครั้งที่ 2 (Prime Ministerial Retreat) ระหว่างวันที่ 5-7 กันยายน 2546 และร่วมพิธีเปิดสำนักงานเลขาธิการเอเปค
รองนายกรัฐมนตรี (นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย) ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- เยือนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 2-3 สิงหาคม 2545
- เป็นประธานร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ในพิธีเปิดการประชุมระหว่างหน่วยงานข้าราชการพลเรือนไทย-สิงคโปร์ ครั้งที่ 5 (Civil Service Exchange Programme - CSEP) ระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2545
- เยือน เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2546
รองนายกรัฐมนตรี (นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย)
- เยือนในภารกิจการสมัครชิงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ ระหว่างวันที่ 10-11 มิถุนายน 2548
รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)
- เยือนเพื่อร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-สิงคโปร์ภายใต้กรอบ Singapore-Thailand Enhanced Economic Relations (STEER) ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 25-27 สิงหาคม 2546
ประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายโภคิน พลกุล)
- เยือนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 16-18 มิถุนายน 2548
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายกันตธีร์ ศุภมงคล)
- เยือนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2548
- เข้าร่วมการประชุมระหว่างภูมิภาคเอเชีย-ตะวันออกกลาง (Asia-Middle East Dialogue - AMED) ระหว่างวันที่ 20-22 มิถุนายน 2548
- เป็นประธานร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ในพิธีเปิดการประชุมระหว่างหน่วยงานข้าราชการพลเรือนไทย-สิงคโปร์ ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม-1 สิงหาคม 2548
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์)
- เยือนเพื่อหารือข้อราชการกับศาสตราจรย์ เอส จายากูมาร์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงว่าการกระทรวงการกฎหมายและรัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการความมั่นคงสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2548
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายจาตุรนต์ ฉายแสง)
- เยือนเพื่อเจรจาความร่วมมือด้านการศึกษาตามคำเชิญชองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2549
ฝ่ายสิงคโปร์
ประธานาธิบดี (นาย เอส อาร์ นาธาน)
- เยือนอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ระหว่างวันที่ 17-21 มกราคม 2548
นายกรัฐมนตรี (นายลี เซียน ลุง)
- เยือนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2547
- เข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับสิงคโปร์ ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 2-3 กันยายน 2548 ที่จังหวัดเชียงใหม่
รัฐมนตรีที่ปรึกษา (นายลี กวน ยู) ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโส
- เยือนอย่างเป็นทางการในโอกาสกล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Thammasat Business School International Forum 2003 ระหว่างวันที่ 14-17 ธันวาคม 2546
รัฐมนตรีที่ปรึกษา (นายลี กวน ยู)
- เยือนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม 2547
รัฐมนตรีอาวุโส (นายโก๊ะ จ๊ก ตง) ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
- เข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับสิงคโปร์ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 10-12 มกราคม 2546
- เข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียนและผู้นำอาเซียน-จีนสมัยพิเศษว่าด้วยโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2546
- เข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปค ครั้งที่ 11
รัฐมนตรีอาวุโส (นายโก๊ะ จ๊ก ตง)
- เข้าร่วมการประชุม Asian Corporate Conference ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2548
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายจอรจ์ เยียว)
- เยือนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2547
รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการกฎหมายและรัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการ
ความมั่นคง (ศาสตราจารย์ เอส จายากูมาร์)
- เยือนเพื่อเข้าร่วมการประชุม 2nd ASEAN Charter Meeting และเพื่อแนะนำตัว ระหว่างวันที่ 13-16 กุมภาพันธ์ 2549
--------------------------------------------
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ