ข้อมูลประเทศเป้าหมาย

ประเทศเคนยา

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในแนวศูนย์สูตรทางฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล3,000-5,000 ฟุต มีชายแดนทางทิศเหนือติดกับเอธิโอเปีย ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับโซมาเลีย ทิศใต้ติดกับแทนซาเนีย ทิศตะวันตกติดกับยูกันดาและทะเลสาบวิคตอเรีย และทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับซูดาน

 
พื้นที่ 569,259 ตารางกิโลเมตร 

เมืองหลวง
 กรุงไนโรบี  (Nairobi) 

ประชากร
 45.0 ล้านคน (ประมาณการปี 2557) 
 
คนไทยในเคนยา ประมาณ 55 คน  

ภาษาราชการ
 อังกฤษ  

ศาสนา 
โปรเตสแตนท์ร้อยละ 45 โรมันคาทอลิกร้อยละ 33 อิสลามร้อยละ 10 ความเชื่อดั้งเดิมร้อยละ 10 อื่นๆ ร้อยละ 2  

วันชาติ
 12 ธันวาคม     

วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย
 25 กรกฎาคม 2510 
 
ระบบการปกครอง เคนยามีระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของรัฐ หัวหน้ารัฐบาล และผู้บัญชาการทหารสูงสุด อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี โดยรัฐธรรมนูญได้แบ่งอำนาจการปกครองออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นายอุฮูรู มุยไก เคนยัตตา (Uhuru Muigui Kenyatta) (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2556)

ประวัติศาสตร์โดยสังเขป

เคนยาตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษตั้งแต่ปี 2438 (ค.ศ. 1895) และได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2506 (ค.ศ. 1963) หลังจากนั้น เคนยามีการเลือกตั้งทั่วประเทศขึ้นเมื่อปี 2507 
(ค.ศ. 1964) โดยพรรค Kenya African National Union (KANU) ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง และ 
มีนายโจโม เคนยัตตา (Jomo Kenyatta) ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกของเคนยา และประกาศให้เคนยา เป็นสาธารณรัฐอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ

ประธานาธิบดี Jomo Kenyatta บริหารประเทศจนถึงปี 2521 (ค.ศ. 1978) และเสียชีวิตลง จากนั้น 
นายแดเนียล อราป มอย (Daniel arap Moi) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ได้เป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากประธานาธิบดี Kenyatta จนถึงปี 2545 (ค.ศ. 2002)

เคนยาปกครองโดยพรรคการเมืองเดียว มานานกว่า 28 ปี นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ต่อมาในเดือนธันวาคม 2534 (ค.ศ. 1991) เคนยาได้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากระบบการบริหารประเทศแบบพรรคเดียวมาสู่ระบบเสรีประชาธิปไตยหลายพรรคแบบตะวันตก

เคนยามีการเลือกตั้งในระบบหลายพรรคการเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2535 (ค.ศ. 1992) ภายใต้แรงผลักดันจากประเทศตะวันตก โดยพรรค KANU ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ทำให้มีนาย Daniel arap Moi ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ตั้งแต่นั้นมา เคนยาเคยจัดการเลือกตั้งทั่วไปอีก 4 ครั้ง ได้แก่

(1) ปี 2540 (ค.ศ. 1997) โดยประธานาธิบดี Moi ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง

(2) ปี 2545 (ค.ศ. 2002) การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองของเคนยา เนื่องจากประธานาธิบดี Moi ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเคนยา ส่งผลให้ นายอึมไว คีบากิ (Mwai Kibaki) ผู้นำกลุ่ม National Rainbow Coalition (NARC) พรรค Democratic Party ซึ่งเป็นแนวร่วมฝ่ายค้านได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ ชัยชนะของนาย Mwai Kibaki ครั้งนี้ เป็นการสิ้นสุดอำนาจของพรรค KANU ซึ่งปกครองเคนยา มานานกว่า 40 ปี นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ

(3) ปี 2550 (ค.ศ. 2007) ประธานาธิบดี Kibaki ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอีกครั้ง และจัดตั้งพรรค 
แนวร่วมรัฐบาลโดยใช้ชื่อว่า Party of National Unity (PNU) ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรคที่มีนโยบายสนับสนุนรัฐบาล ชัยชนะในครั้งนี้ทำให้ประธานาธิบดี Kibaki สามารถสานต่อกระบวนการพัฒนาประเทศ “วิสัยทัศน์ 2030” (Vision 2030) ตามที่ได้เริ่มกระบวนการไว้เมื่อปี 2549 (ค.ศ. 2006) อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเลือกตั้ง นายไรลา โอดิงกา (Raila Odinga) หัวหน้าพรรค Orange Democratic Movement (ODM) คู่แข่งของประธานาธิบดี Kibaki ได้ก่อเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นเพื่อประท้วงผลการเลือกตั้ง
เพราะเชื่อว่า ประธานาธิบดี Kibaki ทุจริตการเลือกตั้ง สถานการณ์ดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้นจนมีผู้เสียชีวิต 
ถึง 1,500 คน และทั้งสองฝ่ายไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกันได้ จนกระทั่งเดือนเมษายน 2551 (ค.ศ. 2008) นาย Kibaki และนาย Odinga สามารถหาข้อสรุปในการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมือง โดยนาย Kibaki และ นาย Odinga แบ่งสรรอำนาจด้วยการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีตามลำดับ 
และให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

(4) วันที่ 4 มีนาคม 2556 (ค.ศ. 2013) นาย Uhuru Kenyatta หัวหน้าพรรค National Alliance และบุตรชายของนาย Jomo Kenyatta ประธานาธิบดีคนแรกของเคนยา ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสาธารณรัฐเคนยา โดยได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 50.03 ในการเลือกตั้งรอบแรก ทั้งนี้ นาย Odinga ผู้นำพันธมิตร CORD (Coalition for Reforms and Democracy) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลสูงสุดเคนยา เพื่อคัดค้านผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเคนยาเมื่อวันที่ 
4 มีนาคม 2556 (ค.ศ. 2013) ต่อมา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2556 (ค.ศ. 2013) ศาลสูงสุดได้มีคำวินิจฉัย อย่างเป็นเอกฉันท์ว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2556 (ค.ศ. 2013) เป็นไปอย่างอิสระ 
เที่ยงธรรม โปร่งใส และเชื่อถือได้ ซึ่งนาย Odinga ได้ประกาศยอมรับคำวินิจฉัยของศาลฯ อนึ่ง แม้จะมีการคัดค้านผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเคนยาครั้งนี้โดยผู้สนับสนุนนาย Odinga แต่ไม่ปรากฏเหตุการณ์ ความไม่สงบขึ้นเพื่อประท้วงผลการเลือกตั้งเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2550 (ค.ศ. 2007) 

ประธานาธิบดี นายอูฮุรุ เคนยัตตา (Uhuru Kenyatta) เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 9 เมษายน 2556

รัฐมนตรีต่างประเทศ อะมีนา โมฮาเหม็ด (Amina Mohamed ) เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 20 มีนาคม 2556

การเมืองการปกครอง

นโยบาย “วิสัยทัศน์ 2030” 
ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสาธารณรัฐเคนยา เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2556 (ค.ศ. 2013) นาย Uhuru Kenyatta ได้สานต่อและดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในด้านต่าง ๆ ตามนโยบาย วิสัยทัศน์ 2030 (“Vision 2030” ) ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาประเทศที่ริเริ่มโดยประธานาธิบดี Kibaki ตั้งแต่ปี 2549 

(ค.ศ. 2006) เพื่อพัฒนาประเทศเคนยาไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมที่มีรายได้ระดับกลางแห่งใหม่และสามารถประกันคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนได้ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) โดยนโยบายนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และตั้งอยู่บนเสาหลัก 3 ประการ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

วิสัยทัศน์ 2030 จัดทำขึ้นโดยให้ความสำคัญกับประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

(1) ความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจระดับมหาภาค

(2) ความต่อเนื่องในการปฏิรูประบบบริหาร

(3) ความเสมอภาคและโอกาสในการกระจายรายได้สู่คนยากจน

(4) สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายคมนาคม ชลประทาน สาธารณสุข และโทรคมนาคม

(5) พลังงาน

(6) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

(7) การปฏิรูปที่ดินทำกิน

(8) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

(9) ความมั่นคงภายในประเทศ

(10) บริการสาธารณะ

 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเคนยาได้ผ่านการลงประชามติเห็นชอบจากประชาชนเมื่อวันที่ 14สิงหาคม 2553 (ค.ศ. 2010) โดยเน้นการเพิ่มอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น การแบ่งสรรอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการให้ชัดเจน และเพิ่มระบบการตรวจสอบความโปร่งใส ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน โดยมีรูปแบบการบริหารประเทศคล้ายกับสหรัฐอเมริกา คือ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล มีวาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ 5 ปี แต่ไม่เกิน 2 วาระ

การเลือกตั้งประธานาธิบดี 
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2556 เคนยาได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี ผลปรากฏว่า นาย Uhuru Kenyatta อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และนาย William S. Ruto อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี  

นโยบายต่างประเทศ 

ปัจจัยในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของเคนยา 
นโยบายต่างประเทศของเคนยาตั้งอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก โดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่

ปัจจัยด้านการเมืองและความมั่นคง รัฐบาลเคนยามุ่งให้ความสำคัญต่อความมั่นคงภายในประเทศ โดยการป้องกันและรักษาบูรณภาพแห่งดินแดน และอำนาจอธิปไตยของชาติ จากกรณีพิพาทต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นบริเวณชายแดน

ปัจจัยทางเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นองค์ประกอบสำคัญที่กำหนดนโยบายต่างประเทศของเคนยา รัฐบาลเคนยาจัดทำนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิด โดยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment: FDI) ตลอดจนขอรับความช่วยเหลือจากต่างชาติเพื่อการพัฒนาประเทศ (Overseas Development Assistance: ODA) การกระตุ้นให้มี FDI และ ODA จะทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินตราต่างประเทศในระบบการเงินของเคนยา

ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ เคนยาเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ทวีปแอฟริกา เนื่องจากชาวเคนยามี เชื้อชาติและชาติพันธุ์ที่หลากหลาย นอกจากนี้ เคนยายังเป็นประเทศที่เชื่อมต่อมหาสมุทรอินเดียและเป็นเมืองท่าที่สำคัญให้แก่ประเทศต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกาที่ไม่มีทางออกทะเล

การบูรณาการระดับภูมิภาค 
เคนยาส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและภายในภูมิภาค โดยเข้าร่วมเป็นสมาชิกในหลากหลายองค์กร อาทิ ประชาคมแอฟริกาตะวันออก (East African Community: EAC) กลุ่มตลาดร่วม แห่งแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ (Common Market for Eastern and Southern Africa: COMESA) Intergovernmental Authority on Development (IGAD) และ Indian Ocean Rim Association for Regional Co-operation (IOR-ARC) ความร่วมมือเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเคนยายังคงพึ่งพาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม เคนยายังได้รับอิทธิพลจากกระแสโลกาภิวัตน์ และทุนนิยมทำให้ต้องปรับบทบาทด้านการต่างประเทศ โดยยกระดับความสัมพันธ์กับประเทศภายนอกภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ นอกจากนี้ เคนยายังมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ในซูดาน เซาท์ซูดานและโซมาเลีย

บทบาทของเคนยาในองค์กรระหว่างประเทศ 
เคนยาส่งเสริมบทบาททางการทูตในกรอบพหุภาคี โดยมุ่งปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ และสหภาพแอฟริกา ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาคมโลกมีการจัดระเบียบการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก อาทิ การก่อการร้าย ยาเสพติด การค้ามนุษย์ การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การต่อต้านโจรสลัด

สถานการณ์ความมั่นคงในเคนยาในปัจจุบัน

หลังจากที่เคนยาประสบปัญหาความไม่สงบในประเทศหลังจากการเลือกตั้งปี 2550 (ค.ศ.2007) ทำให้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือทางการเมือง เศษฐกิจ และสังคม ตลอดจนความปลอดภัยในเคนยาในสายตาประชาชมระหว่างประเทศลดลง ดังนั้น เคนยาจึงกำหนดนโยบายเร่งด่วนเพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ และสร้างความเชื่อมั่นในประชาคมระหว่างประเทศ โดยเน้นการกระตุ้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน และภายในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก รวมทั้งเพิ่มบทบาทของ EAC ในเวทีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ เคนยายังส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย และแอฟริกาใต้

เคนยาเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อสถานการณ์ความไม่สงบในในโซมาเลีย และปัญหา 
โจรสลัดโซมาเลีย เนื่องจากมีพรมแดนทางบกและทางทะเลติดต่อกับโซมาเลีย จึงได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวในหลายทาง แม้ว่าเคนยาจะประกาศยกเลิกบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการรับฟ้องและดำเนินคดี 
โจรสลัดโซมาเลียในศาลเคนยากับประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 (ค.ศ. 2009) แต่ในความเป็นจริง เคนยายังคงรับดำเนินดดีโจรสลัดอยู่ ขณะนี้มีคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลราว 20 คดี และมีผู้ต้องขังทั้งถูกตัดสินโทษและอยู่ระหว่างการรอคำตัดสินทั้งสิ้นกว่า 100 คน และเมืองมอมบาซาเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการต่อต้านโจรสลัด ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือโดยใช้อาวุธในมหาสมุทรอินเดียทางตะวันตกและประเทศตะวันออกกลางรอบทะเลแดง (Djibouti Code of Conduct)

นอกจากนี้ เคนยายังต้องรับภาระผู้ลี้ภัยสงครามและความแห้งแล้งในโซมาเลียจำนวนมากที่สุด ประมาณ 620,148 คน[1] แต่เดิม เคนยาพยายามไม่เข้าไปมีบทบาทในโซมาเลียอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนกันยายน 2554 (ค.ศ. 2011) กลุ่ม al-Shabaab ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงในโซมาเลีย หนึ่งในเครือข่ายของกลุ่มก่อการร้ายal-Qaeda ได้บุกเข้ามาจับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและเจ้าหน้าที่องค์กร 
การกุศลในพื้นที่ตอนเหนือของเคนยาเป็นตัวประกัน ทำให้รัฐบาลเคนยาตัดสินใจส่งกองกำลังทหารเข้าไปในโซมาเลียเพื่อปราบปรามกลุ่ม al-Shabaab โดยได้รับการสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการจากสหรัฐฯ และ 
และประเทศในยุโรป ปฏิบัติการข้างต้นทำให้เคนยาตกเป็นเป้าหมายก่อการร้ายใหม่ของกลุ่ม al-Shabaab 
โดยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2554 (ค.ศ. 2011) เป็นต้นมา เกิดเหตุระเบิดหลายสิบครั้งในกรุงไนโรบี เมือง Garissa ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเคนยา และเมืองมอมบาซา ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

ผลจากการที่เคนยาไม่ยอมถอนทหารออกจากโซมาเลีย ทำให้สมาชิกกลุ่มติดอาวุธ al-Shabaab นำกำลังเข้ายึดห้างสรรพสินค้า Westgate Shopping Mall ในกรุงไนโรบีของเคนยา และได้ควบคุมประชาชนส่วนที่เหลือเป็นตัวประกันนาน 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 21 ถึง 24 กันยายน 2556 ส่งผลให้ประชาชนชาวเคนยาและชาวต่างชาติเสียชีวิตและสูญหายเป็นจำนวนมาก โดยกลุ่มก่อการร้าย al-Shabaab ได้ออกแถลงการณ์กล่าวอ้างความรับผิดชอบ และระบุว่าปฏิบัติการครั้งนี้ถือเป็นการทวงคืนความยุติธรรม เนื่องจากได้เตือนรัฐบาลเคนยาให้ถอนกำลังออกจากโซมาเลียหลายครั้งแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง

หลังจากเหตุการณ์ที่ Westgate Shopping Mall กลุ่มก่อการร้าย al-Shabaab ได้ยกระดับการก่อความรุนแรง รวมถึงการคุกคามประชาชนมากขึ้น ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2557 เป็นต้นมา ภัยจากอาชญากรรมและการก่อการร้ายในเคนยาทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเมืองมอมบาซา เมืองท่าสำคัญ และกรุงไนโรบี อาทิ เหตุระเบิดตามสถานที่ต่างๆ การโจมตีเป้าหมายที่เป็นตำรวจ รถยนต์โดยสาร 
การบุกปล้นบ้านเจ้าหน้าที่ UN-HABITAT เป็นต้น

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2557 รัฐบาลเคนยาเริ่มทำการกวาดล้างและจับกุมผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนร่วมในการก่อการร้ายอย่างจริงจัง ทั้งผู้นำศาสนาอิสลามคนสำคัญตามเมืองต่าง ๆ และบุคคลอื่นๆ ที่ถูกสงสัยว่าให้การอุดหนุนทางการเงินแก่กลุ่มก่อการร้าย จนทำให้รัฐบาลถูกประณามจากผู้นำศาสนาอิสลามและชุมชนต่าง ๆ และอาจสร้างความเคียดแค้นโดยกลุ่มที่เป็นฝ่ายเดียวกับบุคคลที่ถูกจับกุม

อนึ่ง เมื่อเย็นวันที่ 1 เม.ย. 2557 Sheikh Abubakar Shariff หรือ Makaburi ผู้นำศาสนาอิสลาม ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย Al Shabaab อย่างเปิดเผย และต้องสงสัยว่าอาจมีส่วนเกี่ยวพันกับการก่อการร้ายหลายกรณี ถูกมือปืนลึกลับสังหารที่เมือง Mombasa ส่งผลให้พรรคพวก ซึ่งรวมถึงนาง Samantha Lewthwaite หรือ “แม่ม่ายขาว” (“White Widow” สตรีชาวอังกฤษ) ซึ่งแหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงระหว่างประเทศระบุว่า เป็นผู้ที่ Makaburi คัดเลือกให้เข้าร่วมสงครามศักดิ์สิทธิ์ และน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย Al-Shabaab ต้องการแก้แค้นการเสียชีวิตของ Makaburi จึงเป็นไปได้ที่จะมีการโจมตีเคนยาครั้งใหญ่อีกครั้งในอนาคตอันใกล้

ภัยจากการก่อการร้ายทำให้วุฒิสมาชิกของเคนยาเรียกร้องให้ประธานาธิบดี Uhuru Kenyatta หามาตรการยับยั้งความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงปรับปรุงอุปกรณ์ด้านการรักษาความปลอดภัย วุฒิสมาชิกบางส่วนต้องการให้ปลด ผบ.ตร. และอธิบดีกรมสืบสวนคดีอาญาของเคนยา เนื่องจากขาดความรับผิดชอบในการรักษาความมั่นคง และเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อต้านการก่อการร้ายไม่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายได้

อย่างไรก็ดี โฆษกกรมตำรวจเคนยากล่าวว่า นับตั้งแต่รัฐบาลเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยและผู้ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายได้มากกว่า 5,000 คน โดยทางการเคนยาได้เนรเทศออกนอกประเทศ หรือส่งเข้าค่ายผู้อพยพ รวมถึงสอบสวนขยายผลการปฏิบัติการไปยังพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ การตรวจสอบธนาคาร ร้านแลกเปลี่ยนเงินตรา และสถาบันการเงิน ที่ถูกใช้เป็นแหล่งฟอกเงินของกลุ่มก่อการร้าย เป็นต้น

ปัญหาการขาดเอกภาพในการประสานงานระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคง และปัญหาการฉ้อ-ราษฎร์บังหลวงในเคนยา ถูกระบุว่าเป็นอุปสรรคสำคัญของรัฐบาลเคนยา ในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายในประเทศ นอกจากนี้ เคนยายังมีปัญหาอาชญากรรมภายใน ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงและกระทบต่อเศรษฐกิจของเคนยาอย่างรุนแรง

การหารือทวิภาคีระหว่างเลขาธิการสหประชาชาติกับประธานาธิบดีเคนยา 
เมื่อวันที่ 27-28 มิ.ย.2557 นาย Ban Ki-moon เลขาธิการสหประชาชาติเยือน กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา หลังจากเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nation Environment Assembly) ครั้งที่ 1 ณ กรุงไนโรบี ในวันที่ 27 มิ.ย. 2557

สรุปผลการหารือทวิภาคีระหว่างนาย Ban Ki-moon และนาย Uhuru Kenyatta ปธน.เคนยา เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2557

1) ปธน.เคนยากล่าวว่า เคนยาจะทำงานร่วมกับสหประชาชาติมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านแผนงานการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานต่างๆของสหประชาชาติ รวมทั้งจะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจในหน่วยงานตำรวจด้านการทูต (diplomatic police unit) เป็นสองเท่า เพื่อให้มั่นใจว่าประสบการณ์และการทำงานของหน่วยงานต่างๆของสหประชาชาติในเคนยาเป็นผลงานระดับสูงของโลกต่อไป

2) เคนยามีความยินดีที่สหประชาชาติตั้งองค์กร/หน่วยงานต่างๆในประเทศเคนยาอย่างต่อเนื่อง โดยกล่าวถึงการที่ UNAids มเริ่มดำเนินงานศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศระดับโลก (global IT Hub) ที่กรุงไนโรบี และการที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) กำหนดให้กรุงไนโรบีเป็นที่ตั้งของหน่วยความมั่นคงแห่งโลก (global security unit) ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยีสารสนเทศที่เคนยามีอยู่ ดังนั้นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติจึงได้รับประโยชน์จากการตั้งสำนักงานที่กรุงไนโรบี

3) เลขาธิการสหประชาชาติและปธน.เคนยาได้หารือกันในประเด็นด้านการเมืองและความมั่นคงที่สำคัญเกี่ยวกับการต่อต้านการก่อการร้ายในภูมิภาค สถานการณ์ในโซมาเลียและเซ้าท์ซูดาน และในภูมิภาค Great Lakes รวมทั้งความร่วมมือกับสหประชาชาติกับเคนยาในการต่อต้านการโจมตีของผู้ก่อการร้ายต่อประชาชนและประเทศเคนยา โดยสหประชาชาติพร้อมจะให้ความร่วมมือในการเพิ่มขีดความสามารถของรัฐบาลเคนยาในการรับมือกับการก่อการร้าย

4) เลขาธิการสหประชาชาติแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่สัตว์ป่าเคนยาตกอยู่ในสภาวะภัยคุกคามจากการลักลอบค้าสัตว์ป่าโดยผิดกฎหมายและสถานการณ์ (human-wildlife conflicts) ทั้งนี้พราะ อาชญากรรมต่อสัตว์ป่ามิใช่เพียงภัยคุกคามต่อสัตว์ป่าเท่านั้น แต่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญด้านความมั่นคง เพราะอาชญากรรมดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับอาชญากรรมในลักษณะองค์กรและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ (organized crime and insurgent groups)

5) เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวชมเชยเคนยาว่า เคนยากำลังกลายเป็นประเทศผู้นำของโลกในการดำเนินนโยบายด้านพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) และเป็นผู้นำของโลกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน

เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวในงานการยุติการเสียชีวิตของมารดา เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2557 เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวแสดงความยินดีต่อความคิดริเริ่มของนาง Margaret Uhuru ภริยาประธานาธิบดี ในการจัดการรณรงค์ที่เรียกว่า Beyond Zero Campaign เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาและทารกในเคนยา และชมเชยรัฐบาลเคนยาที่ให้การรับรองนโยบายการให้บริการแก่ผู้เป็นมารดาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมไปถึงจัดสรรเงินมากกว่า 45 ล้านดอลลาร์สำหรับสุขอนามัยของมารดาสำหรับปีงบประมาณ 2014-2015 สหประชาชาติจะให้การสนับสนุนทั้งโครงการรณรงค์ Beyond Zero Campaign ของสุภาภสตรีหมายเลขหนึ่งของเคนยาและโครงการสุขอนามัยของมารดาของรัฐบาลเคนยาและขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันในการส่งสารที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ดังและชัดเจนยิ่งขึ้นว่า “No woman should die while giving life”

รายงานการศึกษา

ปี 2018

  • ชื่อเอกสาร: รายงานศึกษาระเบียบการลงทุน/การทำธุรกิจในสาธารณรัฐเคนย่า (ฉบับสมบูรณ์)
    ดาวน์โหลด

ปี 2014

  • ชื่อเอกสาร: โครงการศึกษาระเบียบการลงทุน/การทำธุรกิจสาธารณรัฐเคนยา(18 พ.ย. 57)
    ดาวน์โหลด