ข้อมูลประเทศเป้าหมาย

ประเทศเปรู

ที่ตั้ง อยู่ในทวีปอเมริกาใต้ริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก มีพรมแดนด้านเหนือ ติดกับเอกวาดอร์และโคลอมเบีย ด้านตะวันออกติดกับบราซิล และโบลิเวีย และด้านใต้ติดกับชิลี

พื้นที่ 1,285,200 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในทวีปอเมริกาใต้ และมีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทย 2 เท่า

ภูมิอากาศ ภาคตะวันออกของประเทศมีอากาศร้อนชื้น ภาคตะวันตกแห้งแล้งแบบทะเลทราย และแถบเทือกเขาแอนดีสมีอากาศหนาวเย็น

เมืองหลวง กรุงลิมา (Lima)

ประชากร 29.15 ล้านคน (2552)

ภาษา ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ รวมถึงภาษา Quechua และภาษา Aymara ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นก็ได้รับการรับรองฐานะให้เป็นภาษาราชการด้วยเช่นกัน 

ศาสนา นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ 81 และนิกายอื่นๆ อีกร้อยละ10

เชื้อชาติ อินเดียนพื้นเมือง ร้อยละ 45 เมสติโซ (ผิวขาวผสมชนพื้นเมือง) ร้อยละ 37 ผิวขาว ร้อยละ 15 แอฟริกัน ญี่ปุ่น จีน และอื่นๆ ร้อยละ 3

อัตราผู้รู้หนังสือ ร้อยละ 92.9

หน่วยเงินตรา นูเอโบ โซล (Nuevo Sol) 
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2554 อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 2.772 นูเอโบ โซล 

วันชาติ 28 กรกฎาคม (วันประกาศอิสรภาพจากสเปน)

สมาชิกองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญ APEC, Andean Community, G-24, G-77, MERCOSUR (สมาชิกสมทบ), Non-Alignment Movement (NAM), Organization of American States (OAS), Union of the South American Nations (UNASUR), Union Latina

เวลาต่างจากไทย ช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง

รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตยในระบอบสาธารณรัฐ 

ฝ่ายนิติบัญญัติ มีสภาเดียว เรียกว่า Democratic Constituent Congress มีสมาชิก 120 คน และมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี โดยอาจมีการยุบสภาระหว่างวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ทั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 10 เมษายน 2554 พร้อมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี 

ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย Alan Garcia Perez (พรรค APRA) ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 28 กรกฎาคม 2549 ทั้งนี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 10 เมษายน 2554 พร้อมกับการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา

พรรคการเมืองสำคัญ พรรค American Popular Revolutionary Alliance (APRA) พรรค Peru Possible พรรค National Unity พรรค Union for Peru พรรค Peruvian Nationalist Party พรรค Force 2011

ฝ่ายตุลาการ ศาลชั้นต้น ซึ่งมีอยู่ในทุกจังหวัดสำคัญของทุกภาค และศาลฎีกาที่ตั้งอยู่ในกรุงลิมา

สถานการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ

เปรูมีระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำประเทศ และมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี โดยประธานาธิบดีไม่สามารถลงสมัครเลือกตั้ง 2 สมัยติดกันได้ ปัจจุบันนาย Alan García Perez จากพรรค American Popular Revolutionary Alliance (APRA) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองซ้ายกลาง เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2549 และจะหมดวาระลงกลางปี 2554 นี้ 

ที่ผ่านมา รัฐบาลนาย Alan García Pérez เน้นนโยบายประชานิยมที่มุ่งแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การปฏิรูประบบเศรษฐกิจ รวมทั้งการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นและการพัฒนาระบบบริหารของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนาย Alan Garcia ได้พัฒนาเศรษฐกิจเปรูให้ดีขึ้นโดยลำดับจนเปรูกลายเป็นเศรษฐกิจที่มีอัตราการเจริญเติบโตมากที่สุดแห่งหนึ่งในลาตินอเมริกา

ในวันที่ 10 เมษายน 2554 ที่จะถึงนี้ เปรูกำหนดจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ โพลล่าสุดของสำนัก Iposos Apoyo ชี้ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีคะแนนนำ 3 รายได้แก่ นาย Alejandro Toledo อดีตประธานาธิบดีเปรูซึ่งดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2544-2549 นาง Keiko Fujimori บุตรสาวอดีตประธานาธิบดี Alberto Fujimori แห่งเปรู และนาย Luis Castañeda อดีตนายกเทศมนตรีกรุงลิมา 

ผู้สมัครทั้งสามรายมีนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยสนับสนุนการลงทุนจากภาคเอกชน ซึ่งจะเอื้อต่อบรรยากาศในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามแนวทางที่นาย Alan García ได้ดำเนินมา อย่างไรก็ดี รัฐบาลชุดต่อไปมีภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการ คือ การรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเปรูให้คงอยู่ในระดับเดิมหรือสูงกว่าต่อไป ทั้งนี้ หากไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่า ร้อยละ 50 จะต้องมีการเลือกตั้งในรอบที่สองซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 6 มิถุนายน 2554

นโยบายต่างประเทศ

เปรูให้ความสำคัญกับการดำเนินความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับทั้งสหรัฐฯ และการเพิ่มบทบาทในประชาคมระหว่างประเทศ โดยเคยดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) มาแล้ว 4 สมัย และเคยมีชาวเปรูดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ คือ นาย Javier Perez de Cuellar 

แม้เปรูจะให้ความสำคัญต่อการบูรณาการกลุ่มประชาคมแอนเดียน และการเป็นปึกแผ่นของอเมริกาใต้ (ภายใต้กรอบความร่วมมือ UNASUR และ FTAA) อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของเปรู โดยเป็นทั้งตลาดส่งออกและนำเข้าอันดับหนึ่งของประเทศ ขณะเดียวกันเปรูก็ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และประเทศในเอเชียอื่นๆ รวมทั้งไทย เพื่อเป็นฐานในการขยายตลาดด้านการค้า และการลงทุน ซึ่งจะเห็นได้จากการเข้าเป็นสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค การเข้าเป็นสมาชิก Trans-Pacific Strategic Economic Partnership พร้อมกับสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เวียดนามและมาเลเซีย รวมถึงนโยบายการจัดทำความตกลงเขตกาค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ในเอเชีย ทั้งไทย จีน สิงคโปร์และเกาหลีใต้ เป็นต้น

เปรูเป็นหนึ่งในสามของประเทศลาตินอเมริกา (เปรู ชิลีและเม็กซิโก) ซึ่งเป็นสมาชิกเอเปค โดยมีบทบาทอย่างเข้มแข็งในกรอบความร่วมมือดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างเปรูกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีความเจริญเติบโตและศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งทำให้เปรูได้รับประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี นอกจากนั้น เปรูยังเป็นสมาชิกเวทีความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asia – Latin America Cooperation: FEALAC) เช่นเดียวกับไทย 

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 156.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2553)

อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 8.7 (2553)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 9,162 ดอลลาร์สหรัฐ(2553)

ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 44.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2553)

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 2.08 (2553)

มูลค่าการส่งออก 34.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2553)

สินค้าส่งออกสำคัญ ทองคำ ทองแดง ปลาและผลิตภัณฑ์จากปลา ปิโตรเลียม สังกะสี สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม หน่อไม้ฝรั่ง น้ำตาล กาแฟและฝ้าย

มูลค่าการนำเข้า 29.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2553)

สินค้านำเข้าสำคัญ ปิโตรเลียม เครื่องจักรอุตสาหกรรม ยานพาหนะ อาหารแปรรูป เหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง

ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ ทองคำ ทองแดง เงิน สังกะสี ตะกั่ว น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ปลาและสัตว์ทะเล 

ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ สหรัฐอเมริกา จีน บราซิล เอกวาดอร์ ชิลี อาร์เจนตินา เม็กซิโก แคนาดา ญี่ปุ่น 

อัตราการว่างงาน ร้อยละ 7.7

สถานการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ 

เปรูมีนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม มุ่งเน้นการเปิดเสรีทางการค้าและเศรษฐกิจ การแปรรูปหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ปรับปรุงและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบภาษี ปรับลดภาษีนำเข้าผ่านทางการเปิดเสรีทั้งในระดับภูมิภาคภายใต้กรอบประชาคมแอนเดียน (ANDEAN Community) และ ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (MERCOSUR) และการทำความตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) กับประเทศต่างๆ ทั้งในลาตินอเมริกาและเอเชีย

เศรษฐกิจของเปรูในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก โดยมีภาคการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าประมงและแร่ธาตุ และการลงทุนภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ ในปี 2552 รัฐบาลเปรูได้อัดฉีดงบประมาณจำนวน 3.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างที่อยู่อาศัย ระบบน้ำปะปา ถนน ท่าเรือ และท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความยากจนในประเทศลดลงต่อเนื่องสี่ปี โดยล่าสุด เมื่อปี 2552 ความยากจนในเปรู คิดเป็นร้อยละ 34.8 

รายงานการศึกษา

ปี 2017

ปี 2014

  • ชื่อเอกสาร: โครงการศึกษาระเบียบการลงทุน/การทำธุรกิจสาธารณรัฐเปรู(18 พ.ย. 57)
    ดาวน์โหลด