ข้อมูลประเทศเป้าหมาย

ประเทศศรีลังกา


สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา
Democratic Socialist Republic of Sri Lanka

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง เป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากตอนใต้ของอินเดียประมาณ  80 กิโลเมตร

พื้นที่ 65,610 ตารางกิโลเมตร (ประมาณร้อยละ 12 ของประเทศไทย)

เมืองหลวง กรุงโคลัมโบ (Colombo)

เมืองสำคัญ เมืองแคนดี้ (Kandy) เป็นเมืองหลวงเก่าและศูนย์กลางทางพุทธศาสนา ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศ

ประชากร 20.6 ล้านคน (2554) ประกอบด้วยชาวสิงหล ร้อยละ 74 ชาวทมิฬ ร้อยละ 18  ประชากรมุสลิม (แขกมัวร์และชาวมาเลย์) ร้อยละ 7 และอื่น ๆ ร้อยละ 1

ภูมิอากาศ มีอากาศแบบร้อนชื้น ฝนตกชุกในช่วงฤดูมรสุม                           

ภาษา ภาษาสิงหลเป็นภาษาราชการและภาษาประจำชาติ (ร้อยละ 74) ภาษาทมิฬเป็นภาษาราชการเช่นกัน (ร้อยละ 18) ภาษาอังกฤษใช้ติดต่อสื่อสารทั่วไปในภาครัฐ และประชากรประมาณร้อยละ 10 สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ

ศาสนา ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ร้อยละ 70 ศาสนาฮินดู ร้อยละ 15 ศาสนาคริสต์ ร้อยละ 8 และศาสนาอิสลาม ร้อยละ 7

หน่วยเงินตรา เงินรูปีศรีลังกา (Sri Lankan Rupee) อัตราแลกเปลี่ยน 1 รูปีศรีลังกาเท่ากับประมาณ 0.25 บาท (ณ วันที่ 9 มีนาคม 2555)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ   58.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 2,863.8 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ  ร้อยละ 6.96 (ปี 2554)         

ระบบการปกครอง ปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยแบบรัฐสภามีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ หัวหน้าฝ่ายบริหาร (Head of State  and Head of Government) และผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ โดยได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ดำรงตำแหน่งสมัยละ 6 ปี ไม่เกิน
2 สมัย ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายมาฮินดา ราชปักษา (Mahinda Rajapaksa) ซึ่งเข้ารับตำแหน่งสมัยแรกเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2548 และสมัยที่สองเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2553

วันชาติ 4 กุมภาพันธ์ (วันประกาศเอกราช)

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยและศรีลังกาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับอัครราชทูต เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2498  และยกระดับเป็นระดับเอกอัครราชทูตเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2504 ความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นไปอย่างราบรื่นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไทยและศรีลังกามีความใกล้ชิดทางศาสนาและวัฒนธรรม เนื่องจากทั้งสองประเทศนับถือพุทธศาสนา และที่ผ่านมาไทยได้อัญเชิญกฐินพระราชทานไปทอดถวายที่วัดในศรีลังกาเป็นประจำทุกปี   เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ คนปัจจุบัน คือ นายพลเดช วรฉัตร

ส่วนเอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำประเทศไทย คือ พล.อ. (นอกราชการ) สุวันทะ แหนนะทิเค ศานตะ โกฏเฏโกฑะ (H.E. Gen. (Retd.) Suwanda Hennadige Shantha Kottegoda)

1.1 การเมือง

ในช่วงสงครามกลางเมืองในศรีลังการะหว่างปี 2526-2552 ไทยสนับสนุนการสร้างสันติภาพ
ในศรีลังกา โดยสนับสนุนการเจรจาสันติภาพระหว่างกลุ่ม Liberation Tigers of Tamil Eelam (LTTE - หรือกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ซึ่งต้องการแบ่งแยกประเทศศรีลังกา) กับรัฐบาลศรีลังกา โดยไทยให้สถานที่จัดการเจรจาสันติภาพ 3 ครั้ง ระหว่างปี 2545-2546

1.2 เศรษฐกิจ

ในปี 2554 การค้าระหว่างไทยกับศรีลังกามีมูลค่า 580.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยไทยส่งสินค้าออกไปยังศรีลังกาเป็นมูลค่า 486.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าสินค้าจากศรีลังกา 93.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ   ดังนั้น ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 393.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์และอุปกรณ์เสริม ผ้าทอ เครื่องจักรและชิ้นส่วน ปลาแห้งรมควันและน้ำตาล ในขณะที่สินค้านำเข้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ผักและผลิตภัณฑ์จากผัก เครื่องจักรและชิ้นส่วน เสื้อผ้าสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใย

1.3 ด้านการลงทุน

ไทยลงทุนในศรีลังกาไม่มากนัก โดยศรีลังกาลงทุนในไทยตั้งแต่ปี 2513 รวม 702.3 ล้านบาท
ในสาขาอัญมณี ผลิตภัณฑ์ยาง และคาร์บอน ส่วนการลงทุนไทยในศรีลังกามีประมาณ 386 ล้านบาท
ในสาขาผ้าลูกไม้และอัญมณี  ทั้งนี้ สาขาความร่วมมือที่มีศักยภาพระหว่างสองฝ่าย ได้แก่ อุตสาหกรรมที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบในการผลิต อุตสาหกรรมเพชรพลอยและอัญมณี และการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น

หลังสงครามสิ้นสุด ศรีลังกาเป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับการค้าและการลงทุนเนื่องจาก
(1) การขยายตัวทางเศรษฐกิจของศรีลังกามีแนวโน้มสูงขึ้น  (2) ศรีลังกามีนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อฟื้นฟูและบูรณะประเทศ และ (3) นักลงทุนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่ศรีลังกามีกับอินเดียและปากีสถานเมื่อวันที่ 22-23 มิถุนายน 2552 นาย Anura Priyadarshana Yapa รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาวิสาหกิจและการส่งเสริมการลงทุนของศรีลังกา นำคณะผู้แทนจาก BOI ศรีลังกาและภาคธุรกิจของศรีลังกาเยือนไทย เพื่อชักจูงให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในศรีลังกามากขึ้น

1.4  การท่องเที่ยว

ในปี 2554 มีนักท่องเที่ยวศรีลังกาเดินทางมาประเทศไทย 46,044 คน และนักท่องเที่ยวไทยไปศรีลังกาประมาณ 5,000 คน   ไทยและศรีลังกาเห็นพ้องกันที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาและวัฒนธรรม ในลักษณะ Combined Destination  ทั้งนี้ สองฝ่ายมีความตกลงในเรื่อง Visit BIMSTEC Year และ Buddhist Trail ระหว่างประเทศที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา นอกจากนี้ ไทยยังให้ความร่วมมือแก่ศรีลังกาในการฝึกอบรมบุคลากรและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านการท่องเที่ยว

1.5 ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการฟื้นฟูบูรณะประเทศ

รัฐบาลไทยได้มอบเงินให้รัฐบาลศรีลังกาจำนวน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือศรีลังกาในเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 ซึ่งส่งผลให้ชาวศรีลังกาเสียชีวิตกว่า 32,000 คน มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 443,000 คน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ศรีลังกากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้บริจาคเงิน จำนวน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ แก่โครงการอาหารโลก (United Nations World Food Programme: WFP) ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในศรีลังกา เป็นผลให้มีผู้พลัดถิ่นในประเทศกว่า 300,000 คน   นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ได้บริจาคยา เวชภัณฑ์ และเตียงพยาบาล มูลค่ากว่า 1,300,000 บาท เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาด้าน
การสาธารณสุขและสุขอนามัยในค่ายพักพิง โดยได้ส่งมอบผ่านกระทรวงสาธารณสุขและโภชนาการของศรีลังกาเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2552  

1.6  ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม

ไทยและศรีลังกามีความสัมพันธ์พิเศษทางด้านพุทธศาสนาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12  เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้ส่งคณะผู้แทนไปศรีลังกา เพื่อนิมนต์พระภิกษุศรีลังกาจำนวน 3 รูปมาช่วยฟื้นฟูเผยแผ่พุทธศาสนา (นิกายลังกาวงศ์) ที่นครศรีธรรมราช ก่อนที่จะเผยแผ่ไปยังอาณาจักรสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทำให้พุทธศาสนาในประเทศไทยเจริญรุ่งเรือง   ต่อมาในปี 2296 สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ไทยได้ส่งคณะพระภิกษุ นำโดยพระอุบาลีมหาเถระจากกรุงศรีอยุธยาเดินทางไปยังศรีลังกาตามคำร้องขอ เพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในศรีลังกา (นิกายสยามวงศ์) ซึ่งสืบทอดมาจนปัจจุบัน

ในปี 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ เยือนศรีลังกา และทรงวางศิลาฤกษ์ก่อสร้าง “จุฬาลงกรณ์ธรรมศาลา” ที่วัดศรีปรมนันทะ (หรือวัดจุฬาลงกรณ์) ในเมือง Galle เมื่อเดือนมกราคม 2482 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จฯ เยือนศรีลังกา โดยได้เสด็จฯ ยังวัดทีปทุตตามารามอันเป็นวัดพุทธที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงโคลัมโบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงปลูกต้นไม้มงคล คือ ต้นจันทน์   ต่อมาในปี 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เยือนวัดทีปทุตตามาราม


ในเดือนสิงหาคม 2542 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีได้เสด็จฯ เยือนวัดทีปทุตตามารามเช่นกัน   

รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศและกรมศิลปากรได้ให้ความช่วยเหลือวัดทีปทุตตามารามในการซ่อมแซมยอดฉัตรรัตนเจดีย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามที่เจ้าอาวาสของวัดขอความช่วยเหลือผ่านสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ   ทั้งนี้ ยอดฉัตรดังกล่าว วัดทีปทุตตามารามได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  

ศรีลังกาได้มอบหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี้ และวัดพระศรีมหาโพธิ์ เมืองอนุราชปุระในศรีลังกาเพื่อมาปลูกในไทย นอกจากนั้น ศรีลังกายังได้บริจาคเงิน จำนวน 3,440,000 บาท เพื่อร่วมบูรณปฏิสังขรณ์หอไตรและหอระฆังวัดธรรมาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นวัดที่พระอุบาลีมหาเถระเคยเป็นเจ้าอาวาส ก่อนที่จะเดินทางไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในศรีลังกา และนาย Ratnasiri Wickramanayaka นายกรัฐมนตรีศรีลังกาได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดหอไตรและหอระฆังดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2550

วัดพุทธในศรีลังกาได้รับผ้าพระกฐินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านกระทรวงการต่างประเทศเป็นประจำทุกปี และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ได้ให้ทุนพระศรีลังกามาเป็นอาจารย์สอนที่ มจร. อย่างสม่ำเสมอ

1.7 ความร่วมมือด้านวิชาการ

ไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่ศรีลังกาผ่านสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม การบูรณะโครงสร้างพื้นฐาน การฝึกอบรมอาชีพและสร้างรายได้ การเกษตร การพัฒนาชุมชน การศึกษา และการท่องเที่ยว

ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยให้ความร่วมมือทางวิชาการแก่ศรีลังกาในรูปแบบการให้ทุนการศึกษาหรือทุนฝึกอบรมประจำปีภายใต้กรอบต่าง ๆ เช่น ทุนศึกษาระดับปริญญาโทนานาชาติ (Thai International Postgraduate Program – TIPP) ทุนหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Courses – AITC) ความร่วมมือไตรภาคี (Trilateral Cooperation) และโครงการฝึกอบรมประเทศที่สาม (Third Country Training Programme – TCTP) ในปี 2551 ศรีลังกาได้รับ 32 ทุน ในสาขา เช่น การศึกษา วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ บริหารธุรกิจ สิ่งแวดล้อม การแพทย์ สาธารณสุข การเกษตร การพัฒนาชนบท เศรษฐกิจการค้า และการท่องเที่ยว เป็นต้น สำหรับในปี 2552 นั้น ศรีลังกาได้รับการจัดสรรทุนในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 76 ทุน ปี 2553 จำนวน 41 ทุน และปี 2554 จำนวน 24 ทุน 

2. การเยือนที่สำคัญ

2.1 ฝ่ายไทย

พระราชวงศ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล
อดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

-  วันที่ 25 มกราคม 2482 เสด็จฯ เยือนศรีลังกา 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

-  ปี 2493 เสด็จฯ เยือนศรีลังกา

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

-  วันที่ 19–24 มกราคม 2536 เสด็จฯ เยือนศรีลังกา           

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

-  วันที่ 23-29 สิงหาคม 2542 เสด็จฯ เยือนศรีลังกาตามคำกราบทูลเชิญของประธานาธิบดี
ศรีลังกา

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

-  วันที่ 6 มีนาคม 2548 เสด็จฯ เยือนศรีลังกา และพระราชทานพระไตรปิฎกฉบับอักษรโรมันให้แก่รัฐบาลศรีลังกา

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ

-  วันที่ 21-28 มิถุนายน 2532 เสด็จฯ เยือนศรีลังกา 

รัฐบาล

-  วันที่ 30 มีนาคม - 1 เมษายน 2524 พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนศรีลังกา

-  เดือนมกราคม 2529 และพฤษภาคม 2530 ร.ต. ประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนศรีลังกา

-  เดือนกรกฎาคม 2539 นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเยือนศรีลังกา เพื่อร่วมการประชุมด้านอุตสาหกรรมพื้นบ้าน

-  วันที่ 10-13 มีนาคม 2540 นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนศรีลังกา

-  วันที่ 4-8 เมษายน 2542 ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนศรีลังกา

-  วันที่ 19-20 ธันวาคม 2545 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรี BIMSTEC ครั้งที่ 5 ที่ศรีลังกา

-  วันที่ 14-15 สิงหาคม 2546 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนศรีลังกา

-  วันที่ 26–30 สิงหาคม 2550 คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เยือนศรีลังกาในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าร่วมพิธีแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว ณ เมืองแคนดี้

-  วันที่ 14-16 ตุลาคม 2552 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 8 ที่ศรีลังกา

 

2.2 ฝ่ายศรีลังกา

รัฐบาล

-  เดือนมกราคม 2519 นาง Sirimavo Bandaranaike นายกรัฐมนตรี เยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาล

-  เดือนมีนาคม 2521 นาย Ranil Wickremesinghe รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทย      

-  วันที่ 12-16 พฤษภาคม 2524 นาย Ranasinghe Premadasa นายกรัฐมนตรี เยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาล

-  วันที่ 2-5 มกราคม 2539 นาย Lakshman Kadirgamar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทย

-  วันที่ 22 พฤษภาคม 2545 นาย Tyronne Fernando รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทย

-  วันที่ 28-29 กรกฎาคม 2547 นาย Lakshman Kadirgamar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทยก่อนเข้าร่วมประชุม BIMSTEC

-  วันที่ 30-31 กรกฎาคม 2547 นาง Chandrika Kumaratunga ประธานาธิบดี เดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอด BIMSTEC

-  วันที่ 11 ธันวาคม 2547 นาย Mahinda Rajapaksa นายกรัฐมนตรี เดินทางผ่านไทยเพื่อไปประชุม World Buddhist Summit ณ กรุงย่างกุ้ง และมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศนำกระเช้าดอกไม้ไปต้อนรับที่สนามบิน

-  วันที่ 26-27 เมษายน 2549 นาย Ratnasiri Wickramanayaka นายกรัฐมนตรีเยือนไทยเป็นการส่วนตัว 

-  วันที่ 28 สิงหาคม 2549 นาย Ratnasiri Wickramanayaka นายกรัฐมนตรี เดินทางแวะผ่านไทย เพื่อไปร่วมประชุม Asian Regional Meeting ครั้งที่ 14 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่เกาหลีใต้

-  วันที่ 29 มีนาคม - 1 เมษายน 2550 นาย Ratnasiri Wickramanayaka นายกรัฐมนตรีเยือนไทยในลักษณะ working visit  

-  วันที่ 11-13 มิถุนายน 2551 นาย Rohitha Bogollagama รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ

-  วันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ 2552 นาย Ratnasiri Wickramanayaka นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนไทยเป็นการส่วนตัว เพื่อเข้าร่วมงานบุญวันมาฆบูชาตามคำเชิญของวัดพระธรรมกาย และได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี

-  วันที่ 26 มีนาคม 2552 นาย Rohitha Bogollagama รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ

-  วันที่ 21-23 กรกฎาคม 2552 นาย Rohitha Bogollagama รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเข้าร่วมการประชุม ARF ครั้งที่ 16 ที่จังหวัดภูเก็ต

-  วันที่ 21-23 ตุลาคม 2552 นาย Ratnasiri Wickramanayaka นายกรัฐมนตรี เดินทางแวะผ่านไทย และได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี

-   วันที่ 16 ธันวาคม 2553 Prof. Gamini Lakshman Peiris รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี AMED ครั้งที่ 3 ที่กรุงเทพฯ และได้พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

3. ข้อมูลที่น่าจะทรงทราบ

3.1 ในปี 2556 จะครบรอบ 260 ปีการสถาปนาพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ขึ้นในศรีลังกา
โดยพระอุบาลีมหาเถระ 

3.2 เอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำประเทศไทยให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยว
เชิงศาสนา (spiritual tourism) ระหว่างพุทธศาสนิกชนไทยกับศรีลังกา  การส่งเสริมการลงทุนจากไทยเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  และการส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการทหาร


------------------------------------------------------

รายงานการศึกษา

ปี 2016

  • ชื่อเอกสาร: โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาระเบียบการลงทุน/การทำธุรกิจกลุ่มประเทศตลาดใหม่ (ศรีลังกา) ปีงบประมาณ 2559 (1)
    ดาวน์โหลด
  • ชื่อเอกสาร: โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาระเบียบการลงทุน/การทำธุรกิจกลุ่มประเทศตลาดใหม่ (ศรีลังกา) ปีงบประมาณ 2559 (2)
    ดาวน์โหลด

ปี 2015

  • ชื่อเอกสาร: เอกสารประกอบการสัมมนาตลาดใหม่ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา(1)
    ดาวน์โหลด
  • ชื่อเอกสาร: เอกสารประกอบการสัมมนาตลาดใหม่ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา(2)
    ดาวน์โหลด
  • ชื่อเอกสาร: เอกสารประกอบการสัมมนาตลาดใหม่ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา(3)
    ดาวน์โหลด