ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน

หลังจากพม่าเปิดประเทศ หนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ การกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับต้นๆ ของโลกอีกครั้ง จากที่สูญเสียบัลลังก์แชมป์ไปในช่วงที่รัฐบาลทหารปกครองประเทศยาวนานหลายสิบปี

6 มิถุนายน พ.ศ. 2557

          หลังจากพม่าเปิดประเทศ หนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ การกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับต้นๆ ของโลกอีกครั้ง จากที่สูญเสียบัลลังก์แชมป์ไปในช่วงที่รัฐบาลทหารปกครองประเทศยาวนานหลายสิบปี

          ในอดีต พม่าเคยเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในแวดวงข้าว จนได้ชื่อเป็นชามข้าวแห่งเอเชีย โดยเคยทำสถิติส่งออกข้าวมากถึง 3.4 ล้านตัน ในปี 2477 เมื่อครั้งยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และยังรักษาระดับเหนือ 1 ล้านตันได้ถึงในช่วงก่อนหน้านายพลเนวินยึดอำนาจการปกครอง จากนั้นก็ค่อยๆ ลดลงถึงจุดตกต่ำสุดไม่กี่หมื่นตันในช่วงที่พม่ามีนโยบายปิดประเทศ

          ผู้เชี่ยวชาญหลายราย มองว่า พม่ามีศักยภาพมากในด้านการเกษตร รวมถึงการปลูกข้าว เพราะที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี ถือเป็นแหล่งปลูกข้าวที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

          แต่การจะกลับมาทวงคืนความยิ่งใหญ่ พม่าจำเป็นต้องเอาชนะอุปสรรคและความท้าทายอีกหลายประการ

          สำนักข่าวมิซซิมา ระบุว่า ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเป็นสิ่งหนึ่งที่กระทบต่อการเพาะปลูกข้าวของชาวนาพม่า เนื่องจากยังขาดระบบการระบายน้ำที่ดี เมื่อถึงฤดูฝนก็ทำให้เกิดน้ำท่วมสูง ขณะที่เมื่อถึงฤดูแล้งก็มีปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับใช้เพาะปลูก

          แม้ชาวนาในท้องถิ่นจะพยายามหาวิธีระบายน้ำด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งระบบ และเมื่อยื่นเรื่องร้องเรียนไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ปัญหานี้ก็ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

          อีกเรื่องที่สำคัญ คือ ชาวนาพม่าไม่สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานที่จะช่วยให้พัฒนาขีดความสามารถในการผลิตข้าว ซึ่งสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อเรื่องนี้

          ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับการเกษตร ซึ่งธนาคารเพื่อพัฒนาการเกษตรของพม่ากำหนดให้เกษตรกรกู้ยืมเงินได้ 1 แสนจ๊าตต่อเอเคอร์ และจำกัดสูงสุดที่ 10 เอเคอร์ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการพัฒนาการเพาะปลูกข้าวให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุน

          นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีที่ยังจำกัด รวมถึงถนนหนทางที่ยังไม่ดี ทำให้ชาวนาไม่สามารถขนส่งข้าวได้สะดวก ต้องเก็บข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ไว้เอง ซึ่งทำให้มีปัญหาเรื่องคุณภาพและความชื้นของข้าวตามมา

          ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์พม่า ระบุว่า ปัจจุบัน การเพาะปลูกข้าวนาปีในพม่ามีพื้นที่รวมประมาณ 16 ล้านเอเคอร์ (ราว 6.47 ล้านเฮกตาร์) ส่วนข้าวนาปรังมีพื้นที่ 3 ล้านเอเคอร์

          สำหรับตัวเลขการส่งออกข้าวของพม่าผ่านการค้าชายแดนในช่วงปีงบประมาณที่สิ้นสุดเดือนมี.ค. 2557 อยู่ที่ 6.8 แสนตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปยังจีน และอีก 3 แสนตันเป็นการส่งออกผ่านทางเรือ

ประเมินกันว่า ตัวเลขการผลิตข้าวของพม่าในปี 2556-2557 น่าจะอยู่ที่ 12.6 ล้านตัน ขณะที่การบริโภคในประเทศอยู่ที่ 11 ล้านตัน

          น่าสนใจว่า แม้ทางการพม่าจะตั้งเป้าเรื่องการส่งออก แต่ก็ยังมีความท้าทายที่ต้องฝ่าข้ามอีกไม่น้อย ทั้งการผลิต การสีข้าว การขนส่ง และการควบคุมคุณภาพ ที่ต้องจัดการอย่างเป็นระบบ

          โดยเฉพาะการพัฒนาเรื่องห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมข้าว ที่ยังมีปัญหาหลายด้าน ทั้งจำนวนสายพันธุ์ข้าวที่หลากหลายมาก ทำให้ยากที่จะได้ราคาส่งออกที่ดี อีกเรื่อง คือ การที่เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงการสนับสนุนทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถลงทุนในส่วนที่จำเป็น เพื่อพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการเพาะปลูกให้ทันสมัยขึ้น

          ราว 90% ของการสีข้าวทั้งประเทศยังพึ่งพาเครื่องจักรคุณภาพต่ำ ทำให้ไม่สามารถได้ข้าวที่มีมาตรฐานระดับพรีเมี่ยมและเกิดการสูญเสียมาก อีกทั้งต้นทุนการขนส่งที่ค่อนข้างแพง และมีสัดส่วนมากถึง 25% ของต้นทุนการผลิตข้าวทั้งหมด ก็เป็นอีกเรื่องที่จำเป็นที่รัฐบาลต้องช่วยให้ลดลง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของชาวนาพม่า

          ที่สำคัญ คือ ชาวนาพม่าและเจ้าของโรงสีต้องปรับเปลี่ยนกรอบความคิด และให้ความสำคัญกับการผลิตข้าวคุณภาพสูง เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศ

 

โดย...อัฏฐวรรณ ลวณางกูร

http://www.posttoday.com/%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88-%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94/AEC/298876/%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2-%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2

 

หมวดของข่าว : ลงทุนต่างประเทศ , ลงทุนอาเซียน , ข้อมูลการลงทุน