ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน

Sime Darby กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมการเกษตรของมาเลเซีย

13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

 

 

เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ Post Today ฉบับวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557

หากพูดถึงบริษัทที่เป็นกลุ่มธุรกิจแบบ conglomerate ของมาเลเซียแล้ว แน่นอนว่าจะต้องมี Sime Darby อยู่ในรายชื่ออันดับต้นๆ เสมอ Sime Darby เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาเลเซีย Sime Darby ก่อตั้งมาแล้วกว่า 100 ปี โดยเริ่มจากการปลูกสวนยางในมะละกา ต่อมาขยายไปสู่สวนปาล์ม จนมาถึงการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ เช่น เครื่องจักรอุตสาหกรรม ยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน และสุขภาพ กระจายอยู่ทั่วโลก ปัจจุบัน Sime Darby มีมูลค่าตามราคาตลาดราว 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใหญ่เป็นอันดับ 6 ในตลาดหุ้นมาเลเซีย มีการเติบโตของรายได้และอัตรากำไรที่แข็งแกร่งเฉลี่ย 12% และ 15% ต่อปี ตามลำดับ คำถามที่น่าสนใจคือ ปัจจัยอะไรที่ทำให้ Sime Darby ประสบความสำเร็จ ซึ่งผู้ประกอบการไทยน่าจะนำมาประยุกต์ใช้ได้

กลยุทธ์ขยายการลงทุนให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ หนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จ Sime Darby เป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีธุรกิจต้นน้ำตั้งแต่การปลูกสวนปาล์มขนาดพื้นที่ 5.4 ล้านไร่ ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไลบีเรีย สามารถผลิตปาล์มน้ำมันได้ 2.5 ล้านตันต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 5% ของปริมาณการผลิตปาล์มน้ำมันทั่วโลก ต่อมาได้ขยายการลงทุนไปในธุรกิจกลางน้ำและปลายน้ำที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมันอย่างครบวงจร เช่น โรงกลั่นปาล์มน้ำมันดิบเพื่อผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์ม มาการีน ธุรกิจพลังงานที่มีโรงงานผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ตลอดจนธุรกิจท่องเที่ยวโดยได้พัฒนาสวนปาล์มให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ซึ่งการดำเนินธุรกิจครอบคลุมตลอดห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่การผลิต  การแปรรูปสินค้าเกษตร ไปจนถึงการจัดจำหน่ายสินค้าให้ผู้บริโภค ส่งผลให้บริษัทสามารถลดต้นทุนค่าวัตถุดิบ และสร้างรายได้ตลอดห่วงโซ่มูลค่า

เพิ่มมูลค่าให้สินค้า วิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง Sime Darby ถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกการทำ R&D ด้านปาล์มน้ำมันมาตั้งแต่ปี 1917 ปัจจุบัน Sime Darby มีศูนย์ R&D และศูนย์นวัตกรรม รวม 6 แห่ง พร้อมทั้งนักวิทยาศาสตร์อีกเป็นจำนวนมากทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อให้ได้พันธุ์ของต้นปาล์มที่ให้ผลผลิตสูง ทนทานต่อโรค อีกทั้งยังมุ่งไปสู่การพัฒนาสินค้าที่ให้มูลค่าเพิ่ม เช่น Golden Joma Red Olein เป็นน้ำมันปาล์มสกัดสีแดงที่ให้สารเบตาแคโรทีนสูง ซึ่งให้ผลกำไรสูงกว่าน้ำมันปาล์มทั่วไปถึง 15%

เติบโตแบบ inorganic growth ขยายฐานธุรกิจไปสู่ประเภทอื่น เพื่อลดความเสี่ยงของวัฏจักรราคาสินค้าเกษตร  รายได้ของ Sime Darby ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เมื่ออุปทานล้นตลาดในขณะที่อุปสงค์ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก Sime Darby จึงเริ่มขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจอื่นมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยใช้วิธีควบรวมกิจการในธุรกิจที่ยังไม่มีความรู้และประสบการณ์มากนัก เช่น เข้าไปควบรวมกิจการโรงงานผลิตยางรถยนต์ Goodrich และ Dunlop เพื่อต่อยอดให้กับธุรกิจสวนยางของตัวเอง รวมไปถึงธุรกิจใหม่ๆ เช่น การเข้าไปถือหุ้นและซื้อธุรกิจโรงพยาบาล สนามกอล์ฟ ธุรกิจค้าปลีกอย่าง Tesco ในมาเลเซีย ธุรกิจดีลเลอร์รถแทรกเตอร์ และรถยนต์ รวมกันเป็นอาณาจักร Sime Darby ที่ยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน

การขยายตัวทางภูมิศาสตร์ ครอบคลุมหลายประเทศ ใช้แนวทาง Global reach, Local solution ปัจจุบัน Sime Darby มีโรงงานและสำนักงานขายมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก อาทิ ไทย สิงค์โปร์ ฮ่องกง จีน ออสเตรเลีย และประเทศในยุโรป และเน้นขยายการลงทุนไปในตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ซึ่ง Sime Darby วางแนวทางการดำเนินธุรกิจให้เป็นมาตรฐานระดับโลก แต่ปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ ทำให้ Sime Darby มีเครือข่ายขนาดใหญ่ที่สามารถเข้าถึงวัตถุดิบ และตลาดทั่วโลกตามแต่ลักษณะพฤติกรรมของผู้บริโภค     

จากเส้นทางสู่ความสำเร็จของ Sime Darby อีไอซีมองว่าผู้ประกอบการไทยสามารถนำแนวทางมาปรับใช้กับธุรกิจของตัวเอง ซึ่งนอกจากวิธีการแปรรูปสินค้าเกษตรแล้ว ควรต้องมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าที่ให้มูลค่าเพิ่มสูงกว่าสินค้าทั่วๆไป และเมื่อฐานะทางการเงินมีความแข่งแกร่งแล้วอาจมองหาโอกาสและพันธมิตรขยายไปสู่ธุรกิจอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรดังเช่นสถานการณ์ราคายางพาราที่ตกต่ำอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงมองหาลู่ทางขยายฐานการผลิตและตลาดไปยังประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตสูงเช่นกัน  

 

Cr:   -https://www.scbeic.com/THA/document/topic_posttoday_agri_malaysia/

        -Post Today ฉบับวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557

Cr pic:http://static.panoramio.com/photos/large/20489272.jpg