ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน
ทิพย์ฯปรับแผนรุกตลาดปี58
13 มกราคม พ.ศ. 2558บอร์ด "ทิพยประกันภัย" ดึงพอร์ตคืนจาก 2 บลจ. ให้ฝ่ายลงทุนของบริษัทบริหารเองทั้งหมด หวังลดต้นทุนสอดคล้องโอกาสและความเสี่ยง ชี้หุ้นกลุ่มก่อสร้าง-สื่อสารมีอนาคต ทยอยลดน้ำหนักกลุ่มธุรกิจน้ำมัน-ปิโตรเคมี "สมพร" เผยครึ่งหลังเริ่มทำตลาดประกันอุบัติเหตุเจาะประชาชนในสปป.ลาว หลังปักธงลุยตลาดเพื่อนบ้านหนุนขึ้นแท่นเบอร์ 1 เออีซี
นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทมีแผนที่จะปรับนโยบายด้านการลงทุนในปี 2558 ให้สอดคล้องกับโอกาสและความเสี่ยง จากปัจจุบันที่เลือกลงทุนผ่าน 2 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) โดยในอนาคตมีความเป็นไปได้สูงที่จะปรับให้ฝ่ายลงทุนของบริษัทตัดสินใจลงทุนเองทั้งหมด จากที่ผ่านมาบริษัทแบ่งการลงทุนในหุ้นออกเป็นกองๆ กองละประมาณ 500 ล้านบาท โดยลงทุนผ่าน 2 บลจ. นอกจากนี้ทางคณะกรรมการบริหารของบริษัท (บอร์ดบริหาร) ได้ปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกลุ่ม set 50 เพื่อให้การลงทุนมีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายลงทุนของบริษัทก็เลือกลงทุนโดยสามารถทำรายได้สูงกว่าเป้าที่วางไว้หลายร้อยล้านบาท ดังนั้น 1-2 ปีนับจากนี้ บมจ.ทิพยฯ อาจเลือกที่จะลงทุนเองทั้งหมดเพื่อลดต้นทุนที่ต้องลงทุนผ่านบลจ.เหมือนหลายปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ตามนโยบายการลงทุนในหุ้นจะถูกแบ่งออกเป็นการลงทุนระยะสั้นและระยะยาว ช่วยให้เลือกลงทุนในหุ้นทั้งซื้อเข้าและขายออกตามราคาตลาด เห็นได้จากช่วงที่หุ้นลงแรงในปลายปีที่ผ่านมานั้น ทิพยฯมีการปรับสัดส่วนโดยมีการซื้อกลับเข้ามาบ้าง คิดเป็นเม็ดเงินที่ซื้อขายนั้นอยู่ในรูปกระแสเงินสดต่อครั้งประมาณ 200-300 ล้านบาท น่าจะทำให้รายได้ที่มาจากการลงทุนในปี 2557 เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2556
"ส่วนภาพรวมการลงทุนในปี 2558 นั้น ฝ่ายลงทุนให้น้ำหนักไปที่หุ้นกลุ่มที่มีอนาคต ซึ่งอยู่ในกลุ่มก่อสร้าง อุปกรณ์หรือวัสดุก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ สื่อสาร และมีการปรับตัวดีต่อเนื่อง ขณะเดียวกันในส่วนหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ ธุรกิจน้ำมัน ปิโตรเคมีนั้น บริษัทอาจค่อยๆ ปรับลดสัดส่วนการถือครองลงเพื่อกระจายให้สัดส่วนการลงทุนที่มีความเหมาะสมตามความสามารถในการรับความเสี่ยงและสามารถมีกำไรจากการลงทุนเพิ่ม คาดว่าปีนี้ผลตอบแทนไม่น่าจะต่ำกว่าปี 2556 ซึ่งมีรายได้จากการลงทุนอยู่ที่ 1.1 พันล้านบาท โดยไตรมาส 3 ปี 2557 บริษัทมีรายได้จากการลงทุนอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท"
นายสมพรกล่าวว่า "สำหรับการปรับแผนการขยายตลาดเพิ่มเติมนั้นมีการเตรียมเข้าไปขยายตลาดประกันภัยในกลุ่มประเทศอาเซียนให้มากขึ้น ประเทศแรกคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือสปป.ลาว โดยเข้าไปร่วมทุนกับทางบริษัทประกันภัยสปป.ลาว (Assurances Generales du Laos : AGL) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลสปป.ลาวและรัฐบาลประเทศฝรั่งเศส เพื่อดำเนินธุรกิจกับบริษัทท้องถิ่น สัดส่วนการถือหุ้น 20% และในส่วนทุนไทยจะมาจาก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มทิพยฯ พานิชชีวะฯ และอาคเนย์ฯ สัดส่วนการถือหุ้นร่วมกัน 80%"
อย่างไรก็ดี จากการประเมินตลาดสปป.ลาวปีที่ผ่านมา แม้ภาพรวมทั้งประเทศมีเบี้ยประกันภัยรวม 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.8 พันล้านบาท ซึ่งเป็นตลาดที่ค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบอัตราเบี้ยประกันภัยใกล้เคียงกับภัยรถยนต์ของทิพยฯ เมื่อ 2-3 ปีอยู่ที่ 1.6 พันล้านบาท แต่เชื่อว่าในระยะยาวเมื่อเปิดเสรีอาเซียนแล้วตลาดจะขยายใหญ่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจากการเติบโตของการก่อสร้างทางวิศวกรรม ที่จะเข้าไปรับประกันภัยตัวเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนแบบประกันภัยสำหรับรายย่อยยังถือว่ามีโอกาสอย่างมาก เช่น ประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยเบ็ดเตล็ด นอกจากนี้ครึ่งปีหลังบริษัทจะเริ่มทำตลาดผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ผ่านผลิตภัณฑ์ประกันภัยอุบัติเหตุ คาดว่าประชาชนในสปป. ลาวจะให้ความสนใจใช้บริการด้านสุขภาพในโรงพยาบาลฝั่งไทยได้
ส่วนแผนการขยายตลาดในสปป.ลาวระยะเริ่มต้น 5 ปีแรกกำหนดให้ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2558-2562 ซึ่งการขยายตัวของเบี้ยประกันภัยน่าจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ จากปีแรกที่มีเบี้ยรับเพียง 5 ล้านบาท แต่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 10% หรือภายในระยะเวลา 5 ปี น่าจะมีเบี้ยสะสมไม่ต่ำกว่า 50-60 ล้านบาท
"ธุรกิจที่ทำประกันภัยส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในโครงการภาครัฐและธุรกิจที่เข้าไปตั้งฐานการผลิต ดังนั้นวิธีคิดการเข้าไปขยายตลาดในสปป.ลาว ก่อนอื่นเราไม่ได้มองตลาดปัจจุบันแต่เราต้องมองข้ามช็อต เพราะเมื่อเปิดเออีซีจริงๆ แล้ว เศรษฐกิจไม่เฉพาะสปป.ลาวจะเปิดเต็มตัว แต่กลับช่วยเชื่อมโยงตลาดให้เป็นตลาดเดียว ที่มีตลาดผู้ใช้ร่วมกันหลายร้อยล้านคน ขณะเดียวกันยังช่วยให้เราเข้าไปขยายตลาดในประเทศเพื่อนบ้านได้ ส่วนตลาดต่างประเทศที่มองว่าน่าสนใจคือ เมียนมาร์และกัมพูชา ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษากฎระเบียบโดยเฉพาะทุนจดทะเบียน ในการเข้าไปขอรับใบอนุญาตการทำธุรกิจประกันภัย คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1-2 ปีนับจากนี้ ซึ่งการปักเป้าที่จะขยายตลาดประกันภัยอาเซียน น่าจะทำให้เป้าหมายกับการก้าวขึ้นเบอร์ 1 ในตลาดประกันวินาศภัยของทิพยประกันภัยน่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,017 วันที่ 11 - 14 มกราคม พ.ศ. 2558
Cr:http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=261021:58&catid=101:2009-02-08-11-30-52&Itemid=440#.VLR0lyusVGs
-
เงินลงทุนเขตเศรษฐกิจลาวทะลุ 200 ล้านดอลลาร์
14 มกราคม พ.ศ. 2558 -
3แบงก์ใหญ่เสิร์ฟตลาดกัมพูชา จับลูกค้าสิ่งทอ-เกษตร-อาหาร
15 มกราคม พ.ศ. 2558 -
SMEs ต้องรู้ 17 อุปสรรคขวางลงทุนเวียดนาม
16 มกราคม พ.ศ. 2558 -
รมช.พาณิชย์เตรียมเยือนพม่า หารือความร่วมมือการค้า-การลงทุน
19 มกราคม พ.ศ. 2558