ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน

SMEs ต้องรู้ 17 อุปสรรคขวางลงทุนเวียดนาม

16 มกราคม พ.ศ. 2558

คงต้องยอมรับว่าประเทศเวียดนามในเวลานี้ กำลังเป็นคู่แข่งที่สำคัญของประเทศโดยเฉพาะ "ข้าว" ซึ่งจุดแข็งสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายนั้น มาจากการเมืองที่มีเสถียรภาพ ด้วยระบอบสังคมนิยม มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ทำให้การกำหนดทิศทางของประเทศเดินหน้าได้อย่งต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ลงทนุสามารถวางแผนการประกอบธุรกิจการลงทุนในระยะยาวได้อย่างมีความมั่นใจ 

 
 
นอกจากนี้ แม้ว่าต้นทุนแรงงานในเวียดนามจะดีดตัวขึ้นมาก แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆแล้ว ยังนับว่ามีต้นทุนต่ำกว่า ที่สำคัญแรงงานในวัยหนุ่มสาวของเวียดนามมีถึง 60% ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี และยังมีการศึกษาที่ดีอีกด้วย จึงทำให้เวียดนามเป็นอีกหนึ่งประเทศที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ และเห็นลู่ทางว่ายังมีแนวโน้มสดใส อีกทั้งผลของการสำรวจของ JETRO ยังพบอีกว่าในอีก 5 – 10 ข้างหน้าเวียดนามจะเป็นอันดับหนึ่งแห่งเอเชียในการเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการตั้งโรงงานผลิตสินค้าอีกด้วย
 
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าประเทศเวียดนามจะไม่มีอุปสรรคใดๆเลย ซึ่งหากนักธุรกิจจะเข้าไปลงทุน จำเป็นต้องรับทราบ 17 อุปสรรคเหล่านี้ไว้เสียก่อน
 
1) นักธุรกิจต่างชาติยังไม่ได้รับสิทธิในการทำธุรกิจนำเข้าและค้าขาย ยกเว้นผู้ที่ลงทุนตั้งโรงงาน แต่สามารถตั้งสำนักงานตัวแทนโดยไม่มีรายได้
 
2) กฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ต้องติดตามและแก้ไขปัญหา ควรมีการติดตามและศึกษาข้อมูลกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ ควรสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมไว้ก่อนว่ารัฐบาลเวียดนามพยายามแก้ไข ปรับปรุง กฎ ระเบียบ เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้า การลงทุน และสร้างความเสมอภาคระหว่างนักลงทุนชาวเวียดนามกับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งสามารถขอข้อมูลกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงวางแผนและการลงทุน (MPI)ของแต่ละจังหวัด ส่วนระบบการคิดคำนวณอัตราอากรศุลกากรนำเข้ายังคงเป็นปัญหาพิธีการและแบบฟอร์มศุลกากรแตกต่างกันไปในแต่ละเมือง ทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความมั่นใจในการลงทุนหรือเข้าไปทำธุรกิจในเวียดนาม
 
3) การกำหนดราคากลางสำหรับสินค้านำเข้า เพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณจัดเก็บอากรศุลกากร ขาเข้ากำหนดไว้สูงมาก และไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน
 
4) มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสินค้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลาย
 
5) ปัญหาความขัดแย้งระหว่างนักลงทุนต่างชาติกับผู้ร่วมทุนท้องถิ่นเนื่องจากแนวทางการบริหารงานแตกต่างกัน ปัญหาการแบ่งปันผลประโยชน์ไม่ลงตัว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ลดน้อยลง เนื่องจากการลงทุนเป็นต่างชาติ 100% มากขึ้น
 
6) ระบบกฎหมายและระบบการตัดสินข้อพิพาทของเวียดนามมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งในทางปฏิบัติการพิจารณาตัดสิน ลงโทษนอกจากจะขึ้นอยู่กับตัวบทกฎหมายแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นสำคัญ
 
7) ระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคยังไม่มีความพร้อมเท่าที่ควร
 
8) ปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือและผู้บริหารระดับกลางที่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่
 
9) ความล่าช้าในการปฏิรูประบบการเงินการธนาคาร
 
10) นักลงทุนท้องถิ่นขาดแคลนเงินทุนในการร่วมทุนกับชาวต่างชาติและขาดประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจและการแข่งขันในตลาดโลก
 
11) ปัญหาต้นทุนค่าขนส่งทางเรือสูง เนื่องจากค่าระวางขนส่งสินค้าทางเรือจากไทยไปเวียดนามมีราคาสูง และมีพื้นที่ระวางไม่เพียงพอกับความต้องการ
 
12) เวียดนามขาดขาดข้อมูลข่าวสารด้านการค้าและเศรษฐกิจที่ทันสมัย
 
13) กำลังซื้อของประชากรส่วนใหญ่ในเวียดนามอยู่ในระดับตํ่า ยกเว้นในเมืองใหญ่ เช่น นครโฮจิมินห์ และกรุงฮานอย อย่างไรก็ตาม บริเวณเมืองใหญ่ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด
 
14) ผู้ส่งออกไทยยังขาดความชำนาญในการทำการค้ากับชาวเวียดนามและขาดข้อมูลในรายละเอียดบางเรื่องที่ผู้นำเข้าชาวเวียดนามมีความต้องการเช่น ชาวเวียดนามต้องการให้ส่งออกสินค้าหลายประเภทบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์เดียวกัน แต่ผู้ส่งออกไทยยังไม่สามารถทำได้หรือไม่สนใจที่จะทำธุรกิจด้วยในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ ไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งให้ความสำคัญทางการค้ากับเวียดนาม และมีสำนักงานตัวแทน (Representative Office) ที่ศึกษาตลาดเวียดนามอย่างใกล้ชิด ทำให้รู้จักและคุ้นเคยกับตลาดเวียดนามและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าเวียดนาม ทำให้ผู้ประกอบการไทยประสบกับการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรง
 
15) การดำเนินการทางด้านเอกสารของ Automatic ImportLicensing ผู้นำเข้าจะต้องส่งเอกสาร 2 ฉบับ คือ สำเนา CommercialInvoice และ Bank Payment Certificate ตัวจริง ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องประทับตราบริษัทเพื่อรับรองเอกสาร ก่อนส่งมอบ การส่งมอบต้องส่งผ่านทางไปรษณีย์เท่านั้น และกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าจะตอบรับหรือให้แก้ไขทางไปรษณีย์เช่นกันซึ่งทำให้ต้องใช้เวลา และอาจเกิดกรณีเอกสารสูญหาย ซึ่งทางการเวียดนามจะไม่มีการรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว
 
 ดังนั้นผู้นำเข้าต้องดำเนินการจัดส่งใหม่ตามขั้นตอน กรณีที่สินค้าส่งทางอากาศ ผู้นำเข้าอาจต้องมีการเตรียมการล่วงหน้ามิฉะนั้นจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อเก็บรักษาสินค้าจนกว่าจะได้รับการตอบกลับทางไปรษณีย์ โดยระยะเวลาในการออก AutomaticImport Licensing ผู้นำเข้าต้องรอเอกสารตั้งแต่ 7 วันทำการขึ้นไป เดิมเคยออกสินค้าได้ภายใน 5 วันนับแต่สินค้าถึงท่า Import License ดังกล่าวมีอายุ 1 เดือนหลังจากได้รับอนุญาต กรณีที่ Import License สูญหายหรือเสียหายจากการจัดส่ง ผู้นำเข้าจะต้องเริ่มขอใหม่โดยต้องทำหนังสือชี้แจงว่าเอกสารสูญหาย หรือเสียหาย และมีความจำเป็นต้องขอดำเนินการใหม่ การขอเอกสารใหม่จะใช้เวลา 5 วันทำการ
 
16) แม้ว่ารัฐบาลเวียดนามจะมีเสถียรภาพสูง สามารถตัดสินใจได้รวดเร็วในการแก้ไขปัญหาต่างๆ แต่การเมืองระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น มีทั้งการสอดรับกับนโยบายส่วนกลาง และอาจมีลักษณะเฉพาะตัวในการแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนา อาจรวดเร็ว หรือล่าช้า เป็นสิ่งที่ต้องจัดหาผู้แทนของกิจการไปสร้างความเข้าใจหรือรู้จักบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วยเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
 
17) ความเสี่ยงในการทำธุรกิจ ต้องระมัดระวังต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีการเรียกค่าคุ้มครองกับชาวต่างชาติ การก่อกวนสร้างความหวาดกลัวเป็นระยะจากกลุ่มคนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยอาจไม่สามารถรับรองความปลอดภัยได้ กิจการต้องวางมาตรการและจัดสรรงบประมาณเรื่องการบริหารความปลอดภัย
 
 
ข้อมูลจาก คู่มือการค้าการลงทุนประเทศเวียดนาม โดย กระทรวงพาณิชย์
 
Cr:http://www.smethailandclub.com/knowledge-aec-view.php?id=202