ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน

โอกาสทองธุรกิจการแพทย์ ชิงเค้กตลาดเมียนมาร์

7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประเทศที่ "เนื้อหอม" และน่าลงทุนอันดับต้นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คงไม่มีใครเกิน "เมียนมาร์" หลังประเทศดังกล่าวกำลังปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเต็มตัวในปี 2558 นี้ ทั้งยังพรั่งพร้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติและประชากรที่ต้องการสินค้าอุปโภค บริโภคจำนวนมาก รวมถึงสินค้าด้านการแพท

ในงานแถลงข่าวการจัดงาน "เมียนมาร์ ฟาร์-เม็ด เอ็กซ์โป 2557" ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แขกผู้มีเกียรติ 3 ท่าน เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" เกี่ยวกับนโยบายและการส่งเสริมให้มีการขยายการเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ทั้งด้านยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ

นายอนุชา พันธุ์พิเชฐ ผู้จัดการโครงการ บริษัท วีเอ็นยูเอ็กซิบิชั่น เอเชีย แปซิฟิค จำกัด กล่าวถึงภาพรวมของเมียนมาร์ว่า การเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้วยขนาดพื้นที่ราว 676,578 ตารางกิโลเมตรและมีอาณาเขตติดกับประเทศจีนและอินเดียจึงทำให้เมียนมาร์เป็นที่ยอมรับถึงศักยภาพในการเติบโตโดยเฉพาะด้านสาธารณสุข

เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลเมียนมาร์พยายามผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาด้านคุณภาพของโรงพยาบาลและคลินิกในท้องถิ่นให้ดีขึ้น และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ส่งผลทำให้จีดีพีด้านสาธารณูปโภคทางการแพทย์ล่าสุดขยายตัว 2.1% เนื่องด้วยอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์คุณภาพด้านเภสัชกรรม อุปกรณ์การแพทย์และวัตถุดิบทางธรรมชาติ เชื่อว่าตัวเลขการเติบโตดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลเมียนมาร์คาดการณ์ว่า การพัฒนาและการปรับปรุงระบบคุณภาพทางด้านสาธารณสุขจะเพิ่มมากขึ้นอีกราว 10-15% ต่อปี ในอีก 5 ปีข้างหน้า ประกอบกับจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนในการนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมและธรรมชาติ ในปัจจุบันมีเพียง 250 บริษัทเท่านั้น จึงทำให้เมียนมาร์เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับผู้ประกอบการ ทั้งบริษัทในท้องถิ่นและบริษัทต่างชาติที่ต้องการเข้ามาเจาะตลาดด้านสาธารณสุขและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย


โซ มิน, แซน วิน และ อนุชา พันธุ์พิเชฐ (จากซ้ายไปขวา)

ด้านนโยบายการส่งเสริมของรัฐบาลเมียนมาร์นายแซนวิน และ นายโซ มิน ผู้แทนจากสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ของเมียนมาร์ อธิบายว่า เนื่องด้วยจำนวนโรงงานผลิตยาที่รัฐเป็นเจ้าของในเมียนมาร์มีเพียง 5 โรงงานหลัก บวกกับจำนวนประชากรในประเทศ 60.38 ล้านคน จึงทำให้ขาดความสมดุลระหว่างปัจจัยที่มีกับปัญหาด้านสาธารณสุขในประเทศ

ดังนั้น รัฐบาลเมียนมาร์จึงให้ความสำคัญยิ่งขึ้นในการจัดหาผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมและธรรมชาติ ปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์อยู่ที่เพียง 1.5%

นายแซนกล่าวต่อว่า ตลาดด้านอุตสาหกรรมทางการแพทย์ในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งเพียงพอ และเชื่อว่านโยบายส่งเสริมที่กล่าวมาข้างต้นเป็นอีกหนึ่งช่องทางขยายฐานผลิตและธุรกิจของผู้ประกอบการต่างชาติได้โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ที่ดีมายาวนานอย่างประเทศไทยที่มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ไปเมียนมาร์ราว11.50%ของยอดนำเข้าสินค้าประเภทดังกล่าวทั้งหมด รองมาจากอินเดียที่ 35.42%

สืบเนื่องจากความสำเร็จของการจัดงานครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลเมียนมาร์พยายามผลักดันประเทศของตนให้เป็นศูนย์กลางและผู้รวบรวมธุรกิจจากทั้งในประเทศและต่างประเทศด้านสาธารณสุขเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการสร้างความร่วมมือทางด้านธุรกิจ แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงการติดตามกระแสความเคลื่อนไหวด้านเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากทั่วโลก

ขณะที่นายโซเปิดเผยผลการประเมินในปี 2556 เกี่ยวกับสัดส่วนการค้าและการลงทุนจากนักธุรกิจต่างประเทศที่เข้ามาร่วมพัฒนาและขยายธุรกิจด้านสาธารณสุข ประเทศเวียดนามเข้ามาลงทุนมากที่สุดถึง 18% รองลงมาคือ สิงคโปร์ และจีน อยู่ที่14% ส่วนไทยมีการร่วมลงทุนเพียง 7% ถือว่าค่อนข้างน้อย

ดังนั้นการจัดงาน "เมียนมาร์ ฟาร์-เม็ด เอ็กซ์โป 2557" ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 10-12 กรกฎาคมนี้ ณ ศูนย์ประชุมเมียนมาร์(MCC) ที่นครย่างกุ้ง ถือเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการทั้งในไทยและต่างประเทศที่จะคว้าโอกาสอีกครั้ง เพื่อสานฝันธุรกิจเพื่อก้าวไปสู่ระดับนานาชาติ รวมถึงการเรียนรู้ทางด้านกฎหมายของเมียนมาร์ เกี่ยวกับการค้าและการลงทุนโดยตรง อาทิ สัดส่วนการถือหุ้น 100% ที่รัฐบาลเมียนมาร์กำลังพิจารณา

ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการใดที่สนใจเข้ามาร่วมพบปะพูดคุย หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าชมเว็บไซต์ได้ที่ www.pharmed-myanmar.com