ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน

"เมียนมาร์-ลาว"ซุ่มผุดสะพานข้ามโขง1 ติดปีกการค้าพัฒนารัฐฉาน-หลวงน้ำทา

25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

"แม่น้ำโขง" ที่ไหลมาจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน มีความสำคัญในฐานะเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและยังเป็นพรมแดนประเทศเมียนมาร์และสปป.ลาวดินแดนในแถบนี้ปกคลุมไปด้วยป่าเขาและเป็นพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะในยุคสงครามเย็นที่แทบจะกลายเป็นดินแดนปิด 

กระทั่งทุกประเทศก้าวเข้าสู่ยุคการค้าเสรี และมีการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น ทำให้เกิดเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน โดยมักเป็นความร่วมมือของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) จีน ไทย โดยพัฒนาผ่านประเทศเมียนมาร์และ สปป.ลาวเป็นส่วนใหญ่ แต่จากนี้ไปบริบทความร่วมมือจะพลิกโฉมโดยสิ้นเชิง เมื่อเมียนมาร์และ สปป.ลาวได้ร่วมมือกันก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง "เมียนมาร์-สปป.ลาว" ขึ้นเป็นแห่งแรก




เชื่อมรัฐฉาน-แขวงหลวงน้ำทา
 


ที่ผ่านมาเส้นทางสำคัญที่ใช้สัญจรและขนส่งสินค้าระหว่างจีนตอนใต้-สปป.ลาว-เมียนมาร์-เชียงราย ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของไทยมี 3 เส้นทาง คือ 1.เส้นทางแม่น้ำโขงอ.เชียงแสน-ชายแดนเมียนมาร์-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ระยะทาง 330 กิโลเมตร 

2.ถนนอาร์สามเอ (R3A) โดยมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 เชื่อมกับแขวงบ่อแก้ว-แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ประมาณ 245 กิโลเมตร และ 3.ถนนอาร์สามบี (R3B) เชื่อมจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย-จ.ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-เมืองลา ประเทศเมียนมาร์-จีนตอนใต้ระยะทาง 244 กิโลเมตร ขณะที่การคมนาคมทางอากาศก็เริ่มคึกคัก โดยมีสายการบินไชน่า อีสเทิร์น บินจากท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย ไปยังนครคุนหมิงเมืองเอกของมณฑลยูนนาน เป็นประจำทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ของสัปดาห์

สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อม "เมียนมาร์-สปป.ลาว" แห่งแรกนี้ มีการลงนามความร่วมมือในปี 2554 เพื่อก่อสร้างสะพานเชื่อมกันบริเวณที่เรียกกันว่า "โขงโค้ง" ระหว่างเมืองเชียงลาบ หรือในอดีตเรียกว่าเวียงแคว้นสาหรือเมืองโขง จังหวัดท่าขี้เหล็ก ในเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ กับบ้านกุ่ม เมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว 

ในฝั่งเมียนมาร์นั้นเป็นชุมชนเล็กๆ ของชาวไทลื้อ เช่นเดียวกับฝั่ง สปป.ลาวที่มีชุมชนไม่หนาแน่นมากนัก ซึ่งอยู่ใกล้กับท่าเรือบ้านเชียงกก ที่ตั้งอยู่ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงรายของไทยไปทางทิศเหนือประมาณ 82 กิโลเมตร ซึ่งเรือสินค้าจีนในแม่น้ำโขงมักใช้เป็นเมืองท่าเพื่อการพักค้างแรมระหว่างขนส่งสินค้าไทย-จีน 


พม่า-ลาวทุ่มสร้าง 26 ล.เหรียญ 

สะพานดังกล่าวใช้งบประมาณก่อสร้างราว 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลเมียนมาร์และ สปป.ลาวแบ่งกันออกค่าก่อสร้างฝ่ายละ50% โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. 2556-ส.ค. 2558 

ปัจจุบันการก่อสร้างสะพานคืบหน้าไปมากแล้ว โดยมีการวางเสาตอม่อกลางแม่น้ำโขงให้เชื่อมแผ่นดินถึงกันแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้เป็นฤดูน้ำหลาก แม่น้ำโขงไหลเชี่ยวกรากทำให้การก่อสร้างชะลอลง แต่ยังคงมีการก่อสร้างเนื้องานด้านอื่นโดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองฝั่งประเทศเข้าไปควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด ส่วนใต้เสาตอม่อมีการกำหนดเขตน้ำลึกแม่น้ำโขง เพื่อให้เรือสามารถแล่นผ่านไป-มาได้ในช่วงก่อสร้างครั้งละ 1 ลำ จากนั้นเมื่อระดับน้ำลดลง การก่อสร้างจะกลับมาเต็มรูปแบบเหมือนเดิมจนแล้วเสร็จตามกำหนด 

หากสะพานนี้แล้วเสร็จเปิดใช้ได้ปลายปี 2558 ระบบการคมนาคมและโลจิสติกส์ก็จะเชื่อมโดยตรงไปฝั่งเมียนมาร์กับด่านพรมแดนไทย-เมียนมาร์ จังหวัดท่าขี้เหล็ก รวมทั้งถนนอาร์สามบีในเมียนมาร์เชื่อมมาถึงเชียงรายด้วย 

ในอนาคตถ้ามีการพัฒนาเส้นทางเชื่อมถนนจากภาคเหนือของรัฐฉาน โดยเฉพาะเมืองเชียงตุงไปจนถึงเมืองตองจี เมืองเอกของรัฐฉาน ก็จะเป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงไปยังประเทศเมียนมาร์ทั้งประเทศได้ ขณะที่ในฝั่ง สปป.ลาว เมืองหลวงน้ำทาตั้งอยู่บนถนนอาร์สามเอโดยตรง ซึ่งสามารถขึ้นเหนือไปทางมณฑลยูนนานของจีน และลงใต้สู่ประเทศไทยผ่านด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย ส่วนฝั่งตะวันออกผ่านแยกนาเตยก็จะไปทางแขวงพงสาลี-หลวงน้ำทา-เดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนามได้เช่นกัน


จับตาจุดยุทธศาสตร์สำคัญ 


"นางสาวผกามาศ เวียร์ร่า" ประธานหอการค้าอำเภอแม่สาย และผู้บริหารบริษัท แม่โขง เดลต้า ทราเวล เอเจนซี่ จำกัด ผู้ให้บริการเรือนำเที่ยวในแม่น้ำโขง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สะพานดังกล่าวถือเป็นจุดเชื่อมระหว่างเส้นทางสำคัญที่มีอยู่ในเมียนมาร์ คือ ถนนอาร์สามบี และถนนอาร์สามเอใน สปป.ลาว และยังอยู่ใกล้ท่าเรือเชียงกก ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญในแม่น้ำโขงที่เชื่อมกับท่าเรืออื่นๆ ในแม่น้ำโขง ทั้งของจีน เมียนมาร์ และ สปป.ลาวได้อีกด้วย 

จึงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ปัจจุบันสามารถใช้การเดินทางไปทางถนนอาร์สามบี สายท่าขี้เหล็ก-ท่าเดื่อ ประมาณ 30 กิโลเมตร และจากท่าเดื่อ-เชียงลาบ อีกประมาณ 120 กิโลเมตร แต่หากจะเดินทางไปตามถนนอาร์สามเอเริ่มจากอำเภอเชียงของ-แขวงหลวงน้ำทาประมาณ 200 กิโลเมตร และจากเมืองหลวงน้ำทาไปยังเมืองลอง ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ถ้าหันไปใช้เส้นทางผ่านสะพานดังกล่าวจะย่นระยะทางจากเดิมลงประมาณ 100 กิโลเมตร และหากมีการสร้างถนนเลียบฝั่งแม่น้ำโขงในอนาคตก็จะยิ่งลดระยะทางลงได้อีกมาก

สะพานแห่งนี้จึงมีความสำคัญในด้านการคมนาคมการท่องเที่ยวการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งมีมูลค่ามหาศาล การเชื่อมโยงการขนส่งสินค้ากับสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 อำเภอเชียงของ กับแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว และด่านพรมแดนเมียนมาร์-ไทย ที่อำเภอแม่สายกับจังหวัดท่าขี้เหล็ก

 

หมวดของข่าว : ลงทุนต่างประเทศ , ลงทุนอาเซียน , ข้อมูลการลงทุน