ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน
เอาไปเอามาชาวลาวจะได้นั่งรถไฟความเร็วสูงก่อนใคร สายสะหวันนะเขต-เวียดนาม เริ่มออกแบบ
18 กันยายน พ.ศ. 2557
ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงรางคู่ ระยะทาง 220 กิโลเมตร จากชายแดนไทย ที่เมืองไกสอน พมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต ไปยังด่านลาวบ๋าว ชายแดนเวียดนาม ใกล้ความจริงเข้ามาอีกขั้นหนึ่งในขณะนี้ หลังจากบริษัทไจแอ้นท์เรล (Giant Rail Co) เจ้าของสัญญาสัมปทาน ได้เซ็นความตกลงว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากมาเลเซีย ให้ออกแบบในรายละเอียดของโครงการตลอดระยะทาง บริษัทดิจิแม็ป (Digimap Snd Bhd) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการอยู่แล้ว จะทำการออกแบบรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้สามารถเริ่มการก่อสร้างได้ในปี 2558 นี้ สื่อของทางการลาวรายงานในวันจันทร์ 15 ก.ย.นี้ เกี่ยวกับพิธีเซ็นสัญญาระหว่างสองฝ่ายที่จัดขึ้นในนครเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 11 สำหรับรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่มีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี มูลค่าราว 5,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมทั้งมูลค่าการลงทุนพัฒนาสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ด้วย ไจแอ้นท์เรล ซึ่งเป็นบริษัทลูกของไจแอ้นท์คอนโซลิเดทเต็ด กับดิจิแม็ปเบอร์ฮาร์ด ได้เซ็นความตกลงสัญญาหลักระหว่างกันเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2555 ในช่วงที่มีการประชุมผู้นำอาเซียน ที่ลาวเป็นเจ้าภาพ โดยนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิบ ราซัค ในขณะนั้น กับ นายกรัฐมนตรีลาวทองสิง ทำมะวง ร่วมเป็นสักขีพยาน สำหรับการก่อสร้างโครงการ ที่จะช่วยเปลี่ยนลาวจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เป็นประเทศแห่งการต่อเชื่อมอนุภูมิภาค ทางการลาว กับบริษัทไจแอ้นท์เรล ได้จัดพิธีเปิดหน้าดินขึ้นในแขวงสะหวันนะเขต ในเดือน ม.ค.ปีนี้ โดยหวังว่าจะสามารถเริ่มการก่อสร้างได้ทันที หลังจากล่าข้ามานานแรมปี แต่ในที่สุดก็ยังไม่สามารถลงมือได้ ฝ่ายผู้ลงทุนอ้างว่า ระหว่างการการสำรวจความเป็นไปได้ของโครงการนั้น ได้พบวัตถุระเบิดที่หลงเหลือตั้งแต่ครั้งสงครามจำนวนมาก ตามเส้นทางรถไฟฟ้าที่จะสร้างขนานไปกับทางหลวงเลข 9 ซึ่งจะต้องเก็บกู้ให้หมดเสียก่อน บริษัทจากมาเลเซีย เคยแถลงในเดือน พ.ย.2555 ภายหลังการเซ็นสัญญากับรัฐบาลลาว โดยระบุว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ทันทีในปี 2556 การเซ็นข้อตกลงกับบริษัทที่ปรึกษา เพื่อให้ออกแบบโครงการในรายละเอียดเมือสัปดาห์ที่แล้ว ถือเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญสำหรับโครงการ ในขณะที่งานด้านอื่นๆ ซึ่งรวมทั้งการเก็บกู้วัตถุระเบิด ได้ดำเนินคู่ขยนานกันไป สื่อของทางการกล่าว . . ในเดือน ก.ค.ปีนี้ ทางการลาวกับบริษัทผู้ลงทุน ได้จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เกี่ยวกับโครงการทางรถไฟความเร็วสูงลาว-เวียดนาม ยืนยันในความพร้อมของเงินลงทุน และให้ความมั่นใจแก่ทุกฝ่ายว่า โครงการยังคงเดินหน้าต่อไป แม้ว่าที่ผ่านมาจะเกิดการติดขัดที่ไม่คาดคิดหลายประการตามที่กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ทางรถไฟความเร็วสูงรางมาตรฐานขนาด 1.435 เมตร ที่ออกแบบเพื่อการคมนาคมและการขนส่งสินค้านี้ จะไปเชื่อมต่อกับระบบรถไฟในเวียดนาม ที่ยังใช้รางกว้างเพียง 1 เมตรอย่างไร และจะก่อสร้างต่อไปอย่างไร หลังจากไปถึงชายแดนเวียดนาม ตามรายงานก่อนหน้านี้ ไจแอ้นท์คอนโซลฃิเดทเต็ด ได้เปิดการเจรจากับทางการเวียดนาม เกี่ยวกับการก่อสร้างทางรถไฟอีกช่วงหนึ่ง ไปเชื่อมต่อกับระบบรถไฟเวียดนามที่ จ.กว๋างจิ โดยหวังว่าจะสามารถสร้างการเชื่อมต่อไปไปจนถึงท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ ทางตอนเหนือของนครด่าหนัง ที่อยู่ใต้ลงไปได้ เมื่อมองในเชิงยุทธศาสตร์ ทางรถไฟลาว-เวียดนาม สอดคล้องต่อแผนการก่อสร้างระเบียงขนส่งแนวตะวันออก-ตะวันตก ที่ทะลุเข้าสู่ดินแดนไทย ไปออกทะเลในอ่าวเมาะตะมะของพม่า เช่นเดียวกันกับทางหลวงเลข 9 ที่สามารถทะลุเข้าสู่ไทยได้ในที่สุด และปัจจุบันรอเชื่อมกับทางหลวงสายแม่สอด-มะละแหม่ง ในพม่า ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้เท่านั้น. . |
||||
|
หมวดของข่าว : ลงทุนต่างประเทศ , ลงทุนอาเซียน , ข้อมูลการลงทุน
-
ผู้นำอินเดียเยือนเวียดนาม สานความร่วมมือ ตั้งเป้าการค้า $15,000 ล้าน
18 กันยายน พ.ศ. 2557 -
หนุนตั้งฐานลงทุนต่างแดน บีโอไอชี้กลุ่มทุนไทยบะละฮึ่มพร้อมสยายปีก
18 กันยายน พ.ศ. 2557 -
สิงคโปร์เผยยอดค้าปลีกเดือนก.ค.ปรับตัวสูงขึ้น 5.5%
18 กันยายน พ.ศ. 2557 -
บีโอไอบุกกัมพูชา-เวียดนาม ศึกษาลู่ทางลงทุน
18 กันยายน พ.ศ. 2557