ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน

เอ็มบีเอฟ โฮลดิ้งส์-มาเลเซีย

11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

 

 

 

หมอนิเนียน มอกาน ลูร์ดนาดิน (Ninian Mogan Lourdenadin) เป็นชาวมาเลย์เชื้อสายอังกฤษ เรียนจบแพทย์แต่มารุ่งเรืองทางด้านธุรกิจในฐานะประธาน กลุ่มบริษัท นาดินกรุ๊ปฯ และเอ็มบีเอฟ โฮลดิ้งส์ มีเครือข่ายธุรกิจหลากหลายตั้งแต่คลินิกแพทย์ ร้านค้าปลีกโรงพิมพ์ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ แบงก์ โรงโบว์ลิ่งไปถึงโรงเรียนนานาชาติ ครอบคลุมประเทศมาเลเซีย ไทย ฟิจิ ปาปัว นิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน วานูอาตู ตองกา ออสเตรเลีย จีนและสหรัฐอเมริกา
มอนิเนียน มอกาน ลูร์ดนาดินมอนิเนียน มอกาน ลูร์ดนาดิน นิตยสารฟอร์บส์ระบุว่า เมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 นายมอกาน เกิดปี 2597 มีสินทรัพย์สุทธิ 600 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 18,000 ล้านบาท) อยู่ในอันดับ 29 ในทำเนียบ 50 มหาเศรษฐีมาเลเซียหล่นจากอันดับ 23 ในปี 2556 เนื่องจากโดยมหาเศรษฐีคนอื่นแซง
นายมอกาน เป็นนักธุรกิจใหญ่ในกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ทั้งประเทศปาปัว นิวกินี ฟิจิ หมู่เกาะโซโลมอน วานูอาตู และตองกา มีธุรกิจการค้า การเงิน ธนาคาร ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ และสินค้าเกษตร ไร่มะพร้าว ตัวแทนเรือและอู่เรือ ทำให้ได้รับพระราชทานยศอัศวิน เป็นท่านเซอร์โดยพระราชินีแห่งอังกฤษ ในความดีด้านการพัฒนาการพาณิชย์ เกษตรกรรม การกุศลและกีฬาของประเทศปาปัว นิวกินี นอกเหนือจากตำแหน่งตัน ศรีที่ได้รับจากทางการมาเลเซีย
นายมอกาน จบวิชาแพทย์จากมหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน ประเทศอังกฤษ เริ่มธุรกิจเปิดคลินิกและขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก ศูนย์แพทย์ โรงโบว์ลิ่ง ศูนย์อาหารในกลุ่มของนาดินกรุ๊ป ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2524 ขณะที่มีอายุเพียง 27 ปีโดยเครือข่ายคลินิกแพทย์ของนายมอแกน มีชื่อว่า โพลีคลินิก ลูร์ด (Poliklinik Lourdes) ขณะนี้มีมากกว่า 13 สาขาทั่วเขต แคลงวัลเลย์ซึ่งมีอาณาบริเวณกินพื้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ด้วย
กลุ่มนาดินกรุ๊ป มีกิจการในเครือ 16 บริษัท ส่วนใหญ่อยู่ในเขตแคลง ของมาเลเซีย โดยนอกจากเครือข่ายคลินิกแพทย์ แล้ว ยังมีศูนย์แพทย์ อยู่ที่จาลาน อิโปห์ในกัวลาลัมเปอร์ มีศูนย์การค้าอัมปางพอยต์ช็อปปิ้งเซ็นเตอร์ (Ampang Point Shopping Center) ใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ และห้างสรรพสินค้าโรเยลดีพาร์ตเมนต์สโตร์ (Royel Department Stores) ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์การค้าอัมปาง เปิดบริการในปี 2537โดยในกลุ่มนี้มีร้านค้าปลีก 10 ริงกิตช็อปและศูนย์อาหารด้วย
ธุรกิจของนาดินกรุ๊ปที่ขยายตัวมากที่สุดคือ ลานโบว์ลิ่ง ในชื่อของ อัมปาง ซูเปอร์โบว์ล เริ่มเปิดตัวครั้งแรกในปี 2543 ที่ศูนย์การค้าอัมปางพอยต์ฯ มีเลนโบว์ลิ่ง 30 เลน ได้ขยายตัวจนปัจจุบันมีศูนย์โบว์ลิ่งกว่า 14 แห่งในฝั่งตะวันตกของประเทศมาเลเซีย และมีแผนเปิดอีกอย่างน้อย 6 ศูนย์ในอนาคตใกล้ ซึ่งเมื่อเปิดทั้งหมดแล้ว อัมปาง ซูเปอร์โบว์ล จะเป็นเจ้าของศูนย์โบว์ลิ่งใหญ่ที่สุดในมาเลเซียและอาเซียน มีเลนโบว์ลิ่งรวมกันมากกว่า 200 เลน
หมอมอกาน นอกจากมีกลุ่มธุรกิจนาดิน กรุ๊ปที่เป็นธุรกิจของครอบครัวโดยตรง แล้วยังได้รุกเข้าไปลงทุนในธุรกิจอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปซื้อหุ้นเพื่อเป็นเจ้าของกลุ่ม เอ็มบีเอฟ โฮลดิ้ง (MBF Holding) ซึ่งเคยเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของประเทศมาเลเซีย
4301 กลุ่มบริษัท เอ็มบีเอฟ โฮลดิ้งฯ ก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าสัวตัน ศรี ลอย เฮียน เฮียง (Tan Sri Loy Hean Heong) ในสมัยที่รุ่งเรืองสุดขีดมีบริษัทในเครือถึง 198 บริษัทครอบคลุมหลายประเทศในอาเซียนและประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิกใต้ เคยมีบริษัทการเงินและบริษัทบัตรเครดิตใหญ่ที่สุดในประเทศมาเลเซียคือ เอ็มบีเอฟ ไฟแนนซ์และเอ็มบีเอฟ คาร์ด ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนบัตรเครดิตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
กลุ่มบริษัท เอ็มบีเอฟ โฮลดิ้งฯ เริ่มมีปัญหาหลังการเสียชีวิตของเจ้าสัวลอย ผู้ก่อตั้งในปี 2540 โดยในปี 2541 เมื่อวิกฤติการเงินต้มยำกุ้งจากไทยระบาดไปทั่วเอเชีย บริษัทในกลุ่มเอ็มบีเอฟ ที่บริหารโดยทายาทเจ้าสัวก็ประสบปัญหาหนี้หนักต้องโอนหุ้นบางส่วนให้ต่างชาติและในปี 2542 แบงก์ชาติมาเลเซียได้เข้าควบคุมเอ็มบีเอฟ ไฟแนนซ์ ซึ่งต่อมาได้ควบรวมกับกลุ่มอาหรับมาเลเซียนแบงก์ ซึ่งปัจจุบันคือแอมแบงก์
หมอมอกาน ซึ่งมีกิจการร่วมทุนอยู่กับบริษัทในเครือของเอ็มบีเอฟ โฮลดิ้งอยู่แล้ว มองเห็นโอกาสในการขยายตัวครั้งใหญ่จึงรุกเข้าซื้อหนี้จากบริษัทต่างชาติ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งของบริษัท และเริ่มเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นกลุ่มอื่นและรายย่อยตั้งแต่ปี 2549 เพื่อเป็นเจ้าของกิจการแต่เพียงผู้เดียว
หมอมอกาน ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่เก็บตัวมากที่สุดคนหนึ่งของมาเลเซีย เคยให้สัมภาษณ์สื่อในมาเลย์ว่าเหตุที่เข้าซื้อหุ้นในเอ็มบีเอฟ โฮลดิ้ง เนื่องจากมีคนขายให้ในราคาถูกและมีความมั่นใจว่า กลุ่มบริษัท เอ็มบีเอฟฯ จะกลับมายิ่งใหญ่ได้เหมือนในอดีต ในขณะที่นักวิเคราะห์ในมาเลย์ระบุว่าหมอมอกาน มองเห็นโอกาสในการขยายตัวของธุรกิจเอ็มบีเอฟ นอกประเทศมาเลเซียโดยเฉพาะในยิ่งในเขตประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกใต้โดยตัวเขาเองได้เป็นผู้บริหารของเอ็มบีเอฟ ตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มทยอยสะสมหุ้นของ เอ็มบีเอฟ
ในจังหวะที่หมอมอกาน ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท เอ็มบีเอฟ โฮลดิ้งฯ นั้น บริษัทนี้เป็นเจ้าของกิจการ บัตรเครดิต บริษัทตัวแทนเรือโรงพิมพ์และบริษัทผลิตวัสดุบรรจุหีบห่ออาหาร ในประเทศมาเลเซีย ในประเทศฟิจิ มีกิจการซื้อขายรถยนต์และเครื่องจักรกลหนัก อู่เรือ ตัวแทนบริษัทเรือ ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ชื่อมอรีส เฮ็ดสทรอม (Morris Hedstrom) การเงิน พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ขนส่ง ซื้อขายมะพร้าว โกโก้ กาแฟ โรงกลั่นน้ำมันมะพร้าว ส่วนในประเทศปาปัว นิวกินีมีธุรกิจการเงิน เทรดดิ้ง เลี้ยงวัว ขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ สวนมะพร้าว ในประเทศหมู่เกาะโซโลมอนและวานูอาตูมี ธุรกิจเทรดดิ้ง ขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ สวนมะพร้าว ส่วนตองกา มีธนาคารเอ็มบีเอฟแบงก์ ให้บริการการเงินเต็มรูปแบบ
ในประเทศไทย มีกิจการแฟกเตอริ่ง โรงเรียนนานาชาติการ์เดนและโรงเรียนสอนภาษาที่ระยอง ในออสเตรเลีย มีบริษัทโฮลดิ้งที่ใช้ลงทุนในกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ ในสหรัฐอเมริกามีกิจการอพาร์ตเมนต์ให้เช่าที่รัฐจอร์เจียและที่ประเทศจีนมีโรงงานผลิตลิฟต์
หลังจากที่หมอมอกาน เข้าบริหารกลุ่มเอ็มบีเอฟ ได้ไม่นานบริษัทก็พลิกฟื้นขึ้นมาโดยเอ็มบีเอฟ โฮลดิ้ง เริ่มทำกำไรตั้งแต่ปี 2548 จากธุรกิจที่มีอยู่เดิมจนกระทั่งปี 2555 หมอมอกาน ตัดสินใจขายธุรกิจบัตรเครดิตให้กับธนาคารแอมแบงก์ เพื่อเน้นขยายกิจการที่มีอยู่ในประเทศหมู่เกาะ โดยผลประกอบการที่ดีและการขายธุรกิจบัตรเครดิต ทำให้หมอมอกาน มีปัญหาในการซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท เอ็มบีเอฟฯ ที่เหลืออยู่ไม่มากนัก เนื่องจากผู้ถือหุ้นรายย่อยเรียกร้องขอราคาสูงเป็นการตอบแทน
หมอมอกาน ใช้เวลา 7 ปีและเสนอราคาใหม่ถึง 5 ครั้งถึงเอาชนะใจผู้ถือหุ้นส่วนน้อยของบริษัท เอ็มบีเอฟ โฮลดิ้งฯและสามารถถอดบริษัทออกจากตลาดหุ้นเป็นกิจการส่วนตัว100%ได้ในปี 2556
หลังจากที่ หมอมอกาน นำบริษัท เอ็มบีเอฟ โฮลดิ้งฯ ออกจากตลาดหุ้นเบอร์ซา กัวลาลัมเปอร์ได้แล้ว ก็รุกธุรกิจในประเทศหมู่เกาะ อย่างต่อเนื่องทันทีโดยล่าสุดในปี 2557 หมอมอกาน ประกาศที่เมือง ซูวา เมืองหลวงของฟิจิว่า เอ็มบีเอฟ ได้ลงทุนครอบคลุมทุกธุรกิจในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกใต้แล้ว และจะขยายการลงทุนเพิ่มทันทีที่มีโอกาส
ประกาศได้เลยว่าหมอมอกาน จากประเทศมาเลเซีย เป็นราชาธุรกิจแห่งประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกตอนใต้แห่งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของเรา

 

Cr:http://www.aec.thanjob.com/aec/