ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน

เปิดประตูสู่การลงทุนใน AEC

26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

 

 

ประเด็นใหญ่ที่กำลังใกล้เข้ามาถึงและไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงได้ในตอนนี้ คือเรื่องการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะมีการเปิดเสรีทางด้านต่างๆ ทั้งการผลิต การค้าขาย การเคลื่อนย้ายแรงงาน รวมทั้งในด้านของการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนทางอ้อม หรือการลงทุนผ่านตลาดหุ้นในภูมิภาคอาเซียน ที่ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวและเข้าถึงได้อย่างง่ายๆ ซึ่งภาพรวมพบว่าตลาดหุ้นอาเซียนยังคงมีขนาดที่ไม่ใหญ่นักเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก
       
       โดยมีมูลค่าตามราคาตลาด (market cap) รวมกันประมาณ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 4% ของตลาดหุ้นทั่วโลก (ที่มา : World Federations of Exchange September 2014) แต่หากพิจารณาถึงศักยภาพของเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะมีขนาดเศรษฐกิจ (GDP) รวมกว่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก (รองจากสหรัฐอเมริกา จีน และเยอรมนี) รวมถึงจำนวนประชากรกว่า 600 ล้านคน หรือเกือบ 10% ของประชากรทั่วโลก
       
       และด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโตได้เฉลี่ยกว่า 4-5% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2557-2558 สำหรับประเทศหลัก 5 ประเทศ (ASEAN - 5 ประกอบด้วยไทย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์) จึงทำให้ไม่สามารถมองข้ามภาพการลงทุนในตลาดอาเซียนไปได้ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนเรื่องมูลค่าตลาดต่อขนาดเศรษฐกิจ (Market Cap : GDP) ของบางประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย พบว่ายังคงมีสัดส่วนที่ต่ำอยู่ (ที่ระดับ 45.30%) เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา (ที่ระดับ 114.90% ) ดังนั้น จึงนับว่ายังมีโอกาสที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกในอนาคต โดยตลาดหุ้นในภูมิภาคอาเซียนที่น่าจับตามองนอกเหนือจากตลาดหุ้นไทย มีดังนี้
       
       ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับตลาดหุ้นไทย โดยตั้งแต่ต้นปี- 31 ต.ค. 2557 ตลาดหุ้นอินโดนีเซียปรับตัวขึ้นได้กว่า 24% โดยได้รับปัจจัยบวกสำคัญจากผลการเลือกตั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการปฏิรูปนโยบายทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของอินโดนีเซียสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
       
       โดยเฉพาะนโยบายการลดการสนับสนุนด้านราคาพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีงบประมาณคงเหลือมากขึ้นในการใช้จ่ายด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ดี โดยคาดการณ์ว่า GDP ของอินโดนีเซียจะเติบโตได้สูงถึง 5.5% ในปี 2558 ขณะที่บริษัทจดทะเบียนเองก็คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของผลกำไรกว่า 14%
       
       ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ แม้มูลค่าตลาดจะยังเล็กเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาค (ขนาดประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่ก็จัดว่าเป็นตลาดที่เติบโตได้ร้อนแรงไม่แพ้ตลาดอื่น โดยตั้งแต่ต้นปีมีการปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 22% โดยได้รับปัจจัยบวกจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังคงสามารถขยายตัวได้ดีกว่า 6% ต่อปี ทั้งในปี 2557 และ 2558 ซึ่งจัดว่าเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในกลุ่ม ASEAN-5 ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคขยายตัวดีขึ้น และทำให้บริษัทจดทะเบียนฟิลิปปินส์คาดว่าจะมีผลกำไรเติบโตได้สูงกว่า 16% ในปี 2558
       
       นอกจากนี้ การที่ฟิลิปปินส์จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2559 ทำให้คาดการณ์ว่ารัฐบาลจะมีการเร่งการใช้จ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง
       
       ตลาดหุ้นมาเลเซีย ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจะปรับตัวได้น้อย ในขณะที่ตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาคล้วนปรับตัวดีขึ้นเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อพิจารณาปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจแล้ว มาเลเซียยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และน่าจะขยายตัวได้ถึงกว่า 5% ในปี 2558 ในขณะที่งบประมาณภาครัฐ ภายใต้โครงการ “Economic Transformation Program (ETP)” ซึ่งจะเน้นการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจมาเลเซียได้ในระยะยาว
       
       นอกจากนี้ ตลาดหุ้นมาเลเซียเป็นตลาดที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกค่อนข้างต่ำ (Defensive) เพราะผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาด คือกองทุนบำเหน็จบำนาญ และนักลงทุนในประเทศ ซึ่งในปี 2551 หรือปี 2554 ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกตกลงอย่างหนัก แต่ตลาดหุ้นมาเลเซียกลับมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่า
       
       อย่างไรก็ดี เนื่องจากคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของผลกำไรบริษัทจดทะเบียนมาเลเซียในภาพรวมอาจจะไม่โดดเด่นนัก โดยอยู่ที่ประมาณ 4% ในปี 2558 ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีรายตัวเป็นสำคัญ
       
       นอกเหนือจากการลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว พัฒนาการที่สำคัญอีกด้านของการลงทุนในอาเซียน คือ การเปิดเสรีให้มีการเสนอขายกองทุนรวมข้ามประเทศในกลุ่มอาเซียน หรือ ASEAN Collective Investment Schemes : ASEAN CIS แก่ผู้ลงทุนทั่วไป ด้วยความร่วมมือของ 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งเริ่มมีการบังคับใช้แล้วตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2557 โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในมาเลเซีย และสิงคโปร์ สามารถนำหน่วยลงทุนมาเสนอขายแก่ผู้ลงทุนในประเทศไทยได้
       
       ขณะเดียวกัน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนของไทยก็สามารถนำหน่วยลงทุนไปเสนอขายผู้ลงทุนในมาเลเซีย และสิงคโปร์ได้ด้วยเช่นกัน โดยจะเริ่มจากผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ไม่ซับซ้อนก่อน ซึ่ง ASEAN CIS นอกจากจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้นแล้ว ยังทำให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนในไทยต้องมีการปรับตัว รวมถึงคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และท้ายที่สุด ก็จะนำมาซึ่งประโยชน์ของผู้ลงทุนนั่นเอง
       
       คำเตือน การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

 

Cr:http://www.manager.co.th/iBizchannel/viewNews.aspx?NewsID=9570000134974