ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน

3 กูรู วิเคราะห์แนวทางลงทุนพม่า เวียดนาม พร้อมเปิดแนวรุกบุก AEC

9 มกราคม พ.ศ. 2558

 

ถึงเวลานับถอยหลัง เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558 ซึ่งคนไทยจำเป็นจะต้องรับรู้ ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในคร่าวนี้ มีหน่วยงานราชการหลายแห่ง ต่างเร่งเติมความรู้ และสร้างการรับรู้ให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และเปิดแนวรุกผลักดันผู้ประกอบการไทยรับมือการแข่งขันที่รุนแรง

       ล่าสุด กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) งัดกลยุทธ์ไม้เด็ด ให้กับกลุ่ม SMEs ไทย โดยจัดสัมมนา “SMEs Roadmap: เปิดแนวรุกบุก AEC” การจัดสัมมนาในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การบุกตลาด CLMV เพราะเป็นกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่ผู้ประกอบการไทยน่าจะสามารถแข่งขัน และสร้างโอกาสในประเทศเหล่านี้ ซึ่งการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ได้ 3 วิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ ในประเทศเวียดนาม และ พม่ามานานกว่า 10 ปี มาถ่ายทอดประสบการณ์ พร้อมวิเคราะห์โอกาส และอุปสรรคทางการค้า การลงทุน เสริมจุดแข็ง จุดอ่อน ให้กับผู้ประกอบการ

 

       @@@ พม่า เวียดนาม โอกาสนักลงทุนไทยก่อนเปิด AEC @@@

       นายวิชัย เข็มทองคำ กรรมการผู้จัดการบริษัทโอเรียลทัล ยูนิค จำกัด และที่ปรึกษา หอการค้าจังหวัดตาก ได้มาเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องราวด้านการเมือง การค้า การลงทุนในประเทศพม่า ว่า สำหรับประเทศพม่าเป็นประเทศที่หลายคนมองว่า เป็นประเทศเผด็จการณ์ทหาร แต่ในขณะนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลทหารพม่า เริ่มเปิดกว้างให้บทบาทของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน จากการที่อนุญาตให้ “อองซานซูจี” สามารถลงเลือกตั้ง และเดินทางออกนอก

       ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจากการตนเองได้เข้าไปทำธุรกิจในประเทศพม่านานกว่า 10 ปี เห็นว่า การดูแลของรัฐบาลทหารพม่า ต่อนักลงทุนชาวต่างชาติที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศนั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี และในรอบ 20 ปี ไม่เคยมีเหตุการณ์การรัฐบาลเข้ามายึดกิจการของนักลงทุนต่างชาติในพม่า ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างไร เพียงแต่ทางรัฐบาลจะมีกฎระเบียบที่วางไว้ ถ้าใครผิดกฎจะมีมาตรการลงโทษที่รุนแรง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นกฎระเบียบที่ทุกคนสามารถรับได้

       ด้านนายถวาร เตชะไกรศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีไทยสแน็คฟูดส์ จำกัด ผู้ซึ่งมีประสบการณ์การทำธุรกิจในประเทศเวียดนาม เล่าถึงการเมืองในประเทศเวียดนาม ว่า แม้ว่าเวียดนามเพิ่งจะเปิดประเทศ แต่ต้องยอมรับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ มีเสถียรภาพและมีความมั่นคงมากกว่าประเทศไทย รัฐบาลของเขาพยายามที่จะผลักดันประเทศให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ แต่ด้วยเวียดนามเป็นประเทศที่มีเขตติดต่อกับประเทศจีน คนส่วนใหญ่มีสัญชาติ และเชื้อชาติคล้ายคลึงกับคนจีน ดังนั้น การเมืองการปกครองจึงรับอิทธิพลมาจากประเทศจีน ค่อนข้างมาก รวมถึงการทำการค้าส่วนใหญ่ได้แบบอย่างและพึ่งพาประเทศจีนมากเช่นกัน

 

       @@@ ความน่าสนใจด้านการลงทุนพม่า เวียดนาม @@@

       นายวิชัย เล่าถึงสภาพเศรษฐกิจ รวมถึงความน่าสนใจด้านการลงทุนในประเทศพม่า ว่า สำหรับประเทศพม่า ถือว่าเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียนในขณะนี้ เพราะด้วยพื้นที่ของประเทศที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ค่าแรงที่ยังถือว่าถูกมาก โดยค่าแรงขั้นต่ำเพียง 75 บาท ถึง 120 บาท แต่ถ้าเป็นแรงงานที่ไม่มีฝีมือ ค่าแรงเพียง 30 บาท 40 บาท ก็ยังมี ส่วนอัตราค่าจ้างในระดับปริญญาตรี เพียง 4,000 บาท ถึง 5,000 บาท รายได้60%ใช้ในการอุปโภคบริโภค 40% ใช้ในการทำบุญและอื่นๆ และหลังจากรัฐบาลพม่ามีเสถียรภาพ และยอมรับกฎระเบียบต่างๆ ของสหประชาชาติ ยิ่งทำให้ต่างชาติให้ความสนใจการลงทุนในประเทศพม่ากันมาก

       ส่วนธุรกิจที่น่าลงทุนในประเทศพม่า 5 อันดับแรก ธุรกิจด้านการเกษตร วัสดุก่อสร้าง เรื่องของพลังงานก๊าซธรรมชาติ เหมืองแร่ สินค้าแฟชั่น สำหรับของกินของใช้ แฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ส่วนใหญ่ยอมรับในคุณภาพและนำเข้าจากประเทศไทย ในแต่ละปี พม่ามีการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี ปีที่ผ่านมาไทยส่งสินค้าไปขายในพม่ามากถึง 8 หมื่น 5 พันล้านบาท จากจำนวนประชากรของพม่าที่มีมากถึง 60 ล้านคน

       ด้านการลงทุนในพม่า ปัจจุบัน พม่ามีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลักพันโรงงาน ในขณะที่ประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นแสนโรงงาน ดังนั้น การตั้งโรงงานในพม่ายังทำได้อีกมาก ถ้าผู้ประกอบการคนไทยสนใจ เพราะช่วยประหยัดในเรื่องค่าแรงงานที่ลดลง ซึ่งส่งผลในเรื่องของการบริหารต้นทุนลดลง สามารถแข่งขันได้

       ด้านนายถาวร เล่าถึงความน่าสนใจในการลงทุนในประเทศเวียดนามว่า การลงทุนในประเทศเวียดนามในขณะนี้ ถือว่าง่ายสำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติ เพราะเปิดกว้างเพื่อดึงนักลงทุนชาวต่างชาติ โดยมีหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน เหมือน BOI บ้านเรา ดังนั้น นักลงทุนที่เข้าไปลงทุนก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆมากมาย ดังนั้น จึงเห็นว่าปัจจุบัน มีนักลงทุนจากประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรปและเอเชียเข้าไปลงทุนในเวียดนามจำนวนมาก เพราะเวียดนามมีประชากรมากถึงกว่า 90 ล้านคน มีทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอาหารทะเล อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังมีช่องว่างสำหรับนักลงทุนน่าใหม่ แต่ก็ต้องศึกษา ว่าน่าจะเข้าไปลงทุนทำอะไรให้สามารถแข่งขันกับนักลงทุนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว

      

       สำหรับ 5 ธุรกิจที่น่าลงทุนในเวียดนาม ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของวัสดุก่อสร้าง เพราะเวียดนามมีการเติบโตอย่างมากในช่วงนี้ จึงมีการสร้างสาธารณูปโภคมากมาย จำเป็นต้องใช้สินค้าในกลุ่มของวัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเล ผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร ซึ่งถ้าจะไปลงทุนเวียดนาม แนะนำให้เริ่มจากการไปค้าขายก่อน เพราะคนเวียดนามยอมรับในคุณภาพของสินค้าไทย เช่นเดียวกับประเทศพม่า ในขณะที่สินค้าที่มาจากประเทศจีนมองว่า เป็นสินค้าราคาถูก คุณภาพไม่ดี การเข้าไปหาตัวแทนจำหน่ายที่โน่น และหาสินค้าจากประเทศไทยไปขายจะดีกว่า และจากการที่คนเวียดนามยอมรับในคุณภาพสินค้าจากประเทศไทย ทำให้การสร้างแบรนด์ในเวียดนาม กลับสร้างง่ายกว่าการสร้างแบรนด์ในประเทศไทยเสียอีก

 

       @@@ บริหารความเสี่ยง ทางรอดSMEsรับมือAEC @@@

       ดร.ทอง พุทธลอด วิทยากร จากสถาบันไทย-เยอรมัน กล่าวถึง การเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทยในการจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นอกจาก 4P 4C 4S สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการทุกคนไม่สามารถมองข้ามได้ นั่น ก็คือ การบริหารความเสี่ยง แบบPOLC ประกอบไปด้วย การวางแผน (Planning) การจัดองค์การ (Organizing Function) การมีภาวะผู้นำ (Leading Function) และ การควบคุม (Controlling Function) ต้องยอมรับว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน โดยเฉพาะภัยธรรมชาติ ดังที่นักปราชญ์ ชาวจีน กล่าวไว้ว่า รู้เขา รู้เรา และยังต้องยั่งรู้ฟ้าดินด้วย

       ทั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะภัยธรรมชาติ เรื่องของความเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของโลก เป็นเรื่องสำคัญ ที่ทุกคนจะต้องรู้จักการ บริหารความเสี่ยง และให้ความสำคัญอย่างมากในยุคนี้ โดยการรู้จักที่จะปรับตัวให้ได้และให้ทันกับทุกสถานการณ์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น มีการคิดแผนรองรับความเสี่ยง ดั่ง ขงจื้อ กล่าวไว้ว่า ให้ทำตัวเหมือนน้ำ เพราะไม่มีอาวุธอะไรที่จะทำลายน้ำได้ น้ำสามารถปรับตัวได้ทุกสถานการณ์ หน้าหนาว ก็แข็งเป็นน้ำแข็ง ถ้าร้อน ก็ละลายเป็นน้ำ หรือ นักวิทยาศาสตร์ อย่าง "ไอน์สไตน์" ยังกล่าวถึงการปรับตัวไว้ อย่างน่าสนใจว่า คนที่คิดเหมือนเดิม แต่คาดหวังสิ่งใหม่ ก็คงจะมีแต่คนเสียสติเท่านั้น

       อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจในยุคนี้ มีมรสุมหนัก อยู่แค่ 2 ลูก คือ ผู้ประกอบการ กับ ลูกจ้าง ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่มีการปรับตัวและเดินไปด้วยกัน มันก็ไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จได้ ไม่ใช่แค่ผู้บริหารเท่านั้นที่จะตระหนักถึงความเสี่ยง แรงงานพนักงานลูกจ้าง จะต้องตระหนักถึงความเสี่ยง ตราบใดที่แรงงานพัฒนาตัวเอง โอกาสกิจการจะอยู่รอดก็ยาก ในขณะที่ ผู้บริหารเองก็ต้องตระหนักเสมอว่า ถ้าเราไม่ใช่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ล้มแล้วจะทำให้ธุรกิจทั่วโลกพัง หรือ ถ้าเราไม่ใช่ธุรกิจที่ทำเพื่อประชาชน ก็คงจะไม่มีหน่วยงานราชการ หรือรัฐบาลไหนมายอมอุ้มกิจการของคุณ

      

       @@@ ถึงยุคทั่วโลก เข้าสู่นโยบายเขตการค้าแบบเสรี @@@

       ที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ไปไม่ได้ ทุกประเทศเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย และเข้าสู่โลกการค้าเสรี 100% และเป็นที่มาของการรวมกลุ่มประเทศในแต่ละภูมิภาคเพื่อทำให้ตัวเองเข้มแข็งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การรวมกลุ่มกันของประเทศในสหภาพยุโรป หรือ ยูโรโซน และการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC และโดยส่วนตัวผู้บรรยายเชื่อว่า นับถอยหลังจากนี้ไปอีก 10 ปี ทั่วโลกจะมีการเชื่อมโยงด้านการค้าถึงกันหมด และมีการเปิดเสรีเหมือนกันทั่วโลก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจะตัองปรับตัว ผู้ที่เข้มแข็งเท่านั้น ถึงจะอยู่ได้ คนที่อ่อนแอ จะเป็นจุดอ่อนที่ ฉุดการเติบโต การแข่งขันของประเทศ

       สำหรับ AEC - Asean Economy Community การรวมตัวของ 10 ประเทศ ในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ประเทศ ไทย พม่า ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลลิปปินส์ กัมพูชา และบรูไน ซึ่งการรวมตัวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีกฎบัติอาเซียนที่ทำร่วมกันรวม 3 เสาหลัก ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยการรวมตลาดเป็นฐานการผลิตเดียว เสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขัน การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค และการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก ส่วนแผนงานในพิมพ์เขียว AECประกอบไปด้วย การเปิดเสรีการค้า ภาษีสินค้านำเข้าส่งออกเป็นศูนย์ เปิดเสรีด้านบริการ เปิดเสรีด้านการลงทุน เคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี โดยมีแผนที่จะสร้างแบรนด์ AEC เพื่อเชื่อมต่อเศรษฐกิจโลก

       ทั้งนี้ โอกาสของธุรกิจไทยเป็น AEC ด้วยความที่ AEC เป็นตลาดใหม่ ทำให้ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะด้วยจำนวนประชากรที่มีมากถึงกว่า 590 ล้านคน คิดเป็น 9% ของประชากรทั่วโลก และเมื่อมีการรวมตัวของ Asaen +3 เกาหลี ญี่ปุ่น จีน และ +6 อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ทำให้ประชากรมากถึง 3284 ล้านคน 50% ของประชากรโลก ขณะที่ GDPมากถึง 12,250 พันล้านUSดอลล่าร์ หรือ 22% ของ GDP โลก

       จากเป็น AEC ส่งผลหลายด้านต่อประเทศไทย โดยด้านเพิ่มช่องทางการส่งออก และการขยายตลาดไปประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มขีดความสามารถในการเป็นแหล่งลงทุน เพิ่มโอกาสนักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว และเพิ่มอำนาจต่อรอง และขยายความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาค

       ส่วนสาขาที่มีศักยภาพได้แก่ ผลิตภัณฑ์การเกษตร แฟชั่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อิเลกทรอนิกส์ สาขาที่อ่อนไหว น้ำมัน โคนม ชา / กาแฟ หอมกระเทียม ส่วนบริการ ท่องเที่ยว สุขภาพและความงาม บริการธุรกิจ ก่อสร้างและออกแบบ สาขาที่อ่อนไหว การเงิน โทรคมนาคม ค้าปลีก-ส่ง การลงทุน อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเกษตร แฟชั่น และยานยนต์ สาขาที่อ่อนไหว การทำนา ป่าไม้

       สินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ปาล์มน้ำมัน (มาเลเซีย) ถั่วเหลือง(กัมพูชา) ข้าว (เวียดนาม) กาแฟ (อินโดนีเซีย) ชา (ลาวและเวียดนาม) น้ำมันมะพร้าว (ฟิลิปปินส์) สาขาอุตสาหกรรม ได้แก่ เหล็ก โลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกล ยานยนต์และชิ้นส่วน สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติก เฟอร์นิเจอร์

      

       @@@ การเตรียมพร้อมรับมือ AEC @@@

       การเตรียมพร้อมรับมือ AEC ภาครัฐ กำหนดยุทธศาสตร์โดยยึดประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และทิศทางในการพัฒนาประเทศในภาพรวม หาทางเยียวยาแก้ไขสำหรับคนส่วนน้อยที่ได้รับผลกระทบ อาทิ การตั้งกองทุน FTA มาตราปกป้องฉุกเฉิน ปรับปรุงพัฒนาระบบมาตรฐานสินค้าไทย ในขณะที่ภาคเอกชน ต้องมีการปรับตัว ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน กลยุทธ์การตลาดเชิงรุก นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ พัฒนาสร้างความสัมพันธ์กับภาคเอกชนของประเทศอาเซียนอื่นๆ ศึกษาและติดตามกฎระเบียบ ข้อตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างถ่องแท้ การเข้าไปลงทุนหรือร่วมลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน

       ทั้งนี้ ต้องยึดหลักการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลง และการจัดการ โดยต้องสามารถบริหารคน กระบวนการผลิต สินค้า และกำไร ได้อย่างเหมาะสม โดยการคิดเป็นระบบหมายถึงการคิดในลักษณะที่เป็นวง(LOOP)มากกว่าที่จะเป็นเส้นตรง ทุกๆส่วนต่างมีการเชื่อมต่อกันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงใดๆย่อมมีผลกระทบเป็นลูกคลื่นไปยังส่วนต่างๆของระบบและย้อมกลับมายังจุดเริ่มต้นอีกครั้งโดยมีเป้าหมาย ในขณะที่สโลแกนของ SMEs พันธุ์ใหม่ เป้าหมายชัดเจน ต้องเก่งและดี มีABC (Attitude Belief Commitment) เป็นพื้นฐาน นอกจากนี้ ยังจะต้องมี 5Q คือ IQ ฉลาดทางสติปัญญา EQ ความฉลาดทางอารมณ์ MQ คุณธรรมจริยธรรม PQ รู้จักเล่นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ AQ ความฉลาดในการแก้ปัญหาและตัดสินใจ ถ้าทุกคนสามารถพัฒนาและปรับปรุงและบริหารความเสี่ยงของธุรกิจได้ เชื่อว่า ผู้ประกอบการไทยทุกคนจะไม่เป็นจุดอ่อน ที่ฉุดรั้งประเทศชาติให้สามารถแข่งขันและขึ้นเป็นผู้นำในอาเซียนได้

 

ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์

Cr:https://www.innobizmatching.org/index.php/2010-11-09-06-46-48/item/204-news-46

Cr:http://images.thaiza.com/118/118_20130703140617..jpg