ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน

พม่ายกเครื่อง "ระบบไฟฟ้า" เสริมศักยภาพรับต่างชาติแห่ลงทุน

7 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนักลงทุนจากทั่วโลกกำลังจับตามองความเคลื่อนไหวของเมียนมาร์ หนึ่งในแหล่งขุมทรัพย์ทางธรรมชาติอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้เมียนมาร์ต้องเร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในทุกด้าน 

"เดอะนิวไลท์ออฟเมียนมาร์" สื่อรัฐบาลรายงานว่าเมียนมาร์ประกาศแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณูปโภค โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าให้มีศักยภาพมากขึ้นตั้งแต่ปี 2555 เพื่อรองรับการลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว 



นายกันธัน ชานการ์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำเมียนมาร์ กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าพื้นที่กว่า 2 ใน 3 ของประเทศนี้ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ส่วนในเขตชนบท เพียง 16% เท่านั้นที่เข้าถึงกระแสไฟฟ้า ทั้งที่ไฟฟ้ามีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างมาก แม้ทางกระทรวงพลังงานไฟฟ้าจะกระจายโครงข่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้เพียงพอ และยังต้องเผชิญกับปัญหาไฟดับไฟตกบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศร้อนที่สุดของประเทศ

นอกจากนี้ยังมี ปัญหาความปลอดภัยของระบบส่งผ่านกระแสไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายส่งเหนือศีรษะ เพราะการวางสายส่งใต้ดินมีต้นทุนสูงกว่ามาก สายส่งบนดินมักผ่านการใช้งานมานานหลายทศวรรษทำให้ด้อยประสิทธิภาพ ซึ่งโศกนาฏกรรมที่ผ่านมาตอกย้ำถึงระบบความปลอดภัยที่ทางภาครัฐและเอกชนต้องเร่งปรับปรุงโดยเร็ว เช่น เหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา บริเวณตลาดในเมืองไฮลน์ตายาฝั่งตะวันตกของย่างกุ้ง เกิดเหตุระบบไฟฟ้าขัดข้องเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย 

เอเอฟพีรายงานว่า นายจิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลก อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือเมียนมาร์มูลค่าถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ หลังกลับจากการเยือนประเทศเป็นครั้งแรก นายคิมมองว่า ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในเมียนมาร์ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอต่อการรองรับการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนกระแสไฟฟ้า บวกกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น 

ขณะที่รายงานของธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชียระบุว่า เศรษฐกิจของเมียนมาร์จะเติบโตมากกว่านี้ หากมีการเร่งพัฒนาระบบกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติยังขาดความเชื่อมั่นอยู่

เพราะเมียนมาร์ติดอันดับเป็นประเทศที่มีการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยต่ำที่สุดในอาเซียนเพียง 104 กิโลวัตต์ต่อคนต่อปี (ตัวเลขปี 2552) เทียบกับเกือบ 600 กิโลวัตต์ต่อคนต่อปีในอินโดนีเซีย และราว 3,600 กิโลวัตต์ต่อคนต่อปีในมาเลเซีย แม้ว่าอัตราการเข้าถึงกระแสไฟฟ้าในเมียนมาร์จะเพิ่มจาก 16% ในปี 2549 เป็น 26% ในปี 2554 แล้วก็ตาม

แต่ถ้ามองถึงศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจเมียนมาร์ จะพบว่าโอกาสในการขยายการเติบโตธุรกิจไทยในประเทศดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูง หากผู้ประกอบการไทยมองข้ามปัญหาทางการเมืองในประเทศที่ยังไม่คลี่คลายนัก

ที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมาร์พยายามเร่งปฏิรูปนโยบายทางเศรษฐกิจและการเงินเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภายนอกมากขึ้น ทั้งการปรับปรุงกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าจะมอบสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น รวมทั้งการยกเครื่องระบบการเงินของประเทศใหม่

ปัจจัยข้างต้นล้วนส่งผลต่อมุมมองและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติให้หันมาสนใจและแสวงหาโอกาสการเข้าสู่ตลาด

เมียนมาร์ เมียนมาร์ไทม์สอ้างว่า ที่ผ่านมา นักธุรกิจไทยเดินทางเข้าไปในประเทศเป็นจำนวนมาก เพื่อหาลู่ทางและโอกาสที่จะขยายธุรกิจและการลงทุน ซึ่งรัฐบาลเมียนมาร์เชื่อมั่นว่า ในอีก 15 ปีข้างหน้า การลงทุนจากไทยจะทะลุ 1 แสนล้านดอลลาร์ และเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของเมียนมาร์ รองจากจีน 

ยกตัวอย่างเช่น "พรีไซซ กรุ๊ป" บริษัทไทยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านผลิต ติดตั้ง และให้บริการในธุรกิจที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งเคยรุกตลาดเมียนมาร์ด้วยการหาพันธมิตรท้องถิ่นร่วมลงทุนจนประสบความสำเร็จมาแล้วเพราะส่วนใหญ่อุปกรณ์ระบบไฟฟ้าในเมียนมาร์มาจากการนำเข้า

แม้ว่าดินแดนที่เปี่ยมด้วยขุมทรัพย์ทางธรรมชาติแห่งภูมิภาคเอเชียจะมีจุดเด่นหลายอย่างที่เป็นโอกาสทางธุรกิจ และดึงดูดการลงทุนมากเพียงใด 

แต่หากนักธุรกิจต่างชาติไม่เรียนรู้อุปสรรคที่ต้องเผชิญ เช่น ระบบการปกครอง เศรษฐกิจ และระบบการเงินที่คาดว่าต้องใช้เวลาในการสร้างเสถียรภาพ ตลอดจนข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างไฟฟ้า โอกาสที่จะพลาดพลั้งสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย ขณะที่ไทยก็ไม่ควรพลาดช่วงเวลาสำคัญในการขยายตลาดในเมียนมาร์ก่อนคู่แข่งจากตลาดโลก โดยเฉพาะชาติในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน


ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

 

 

หมวดของข่าว : ลงทุนต่างประเทศ , ลงทุนอาเซียน , ข้อมูลการลงทุน