ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน

เจาะลึกกระดานลงทุน ปักหมุดทำเลทองเมียนมาร์

25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

คอลัมน์ ASEAN SECRET โดย ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์สาขาอาเซียนตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ภายใต้โครงการปฏิรูปของประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ดูเหมือนว่าเมียนมาร์จะมีความก้าวหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่หลายประการ อาทิ การเร่งยกเครื่องระบบกฎหมายการลงทุนระบบการเงินการธนาคาร การจัดสรรอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการจดทะเบียนลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนั้น รัฐบาลเมียนมาร์ยังได้ให้ความสำคัญกับการเจรจาหยุดยิงกับกองกำลังชนชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ เพื่อส่งเสริมสันติภาพ และเตรียมพัฒนาการลงทุนตามแนวตะเข็บชายแดน

กระนั้น ปริมณฑลอันซับซ้อนของกระบวนการปฏิรูปภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ก็อาจทำให้ขั้นตอนการค้าการลงทุนในเมียนมาร์เต็มไปด้วยการเข้ามาโลดแล่นของกลุ่มอำนาจและตัวแสดงทางการเมืองหลากหลายระดับเช่น การเข้าไปทำสัมปทานเหมืองแร่และป่าไม้ในเขตปกครองชายแดน ซึ่งนักลงทุนอาจจะต้องเจรจาพร้อมสร้างสายสัมพันธ์กับกลุ่มอิทธิพลถึง 5 กลุ่มหลัก



ได้แก่ 1.นักการเมืองในรัฐสภา และคณะรัฐบาลประจำรัฐนั้นๆ ซึ่งนับเป็นสถาบันการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ จนทำให้เมียนมาร์มีทั้งรัฐสภา/รัฐบาลส่วนกลาง อันตั้งอยู่ที่กรุงเนย์ปิดอว์กับรัฐสภา/รัฐบาลส่วนภูมิภาค เช่น ในรัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง หรือรัฐกะยา ที่กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรการลงทุนท้องถิ่น 

2.ทหารพม่าประจำกองทัพภาคที่ยังคงขยายฐานทัพ และแผ่พื้นที่การควบคุมเหนือคลังทรัพยากรในเขตชายแดน 

3.กองกำลังชนชาติพันธุ์ เช่น กลุ่มกองกำลังกะฉิ่นอิสระ กลุ่มกองทัพรัฐฉานภาคใต้ ซึ่งยังคงรักษาอิทธิพลในการจัดเก็บรายได้การลงทุนตามเขตพื้นที่ที่ตนยังคงครองเขตอำนาจอยู่ 

4.กลุ่มบรรษัทข้ามชาติอย่างจีน ญี่ปุ่น ยุโรป และอาเซียน ที่ได้ส่วนแบ่งการลงทุนผ่านการประมูลหรือทำสัญญากับรัฐบาลเมียนมาร์ตามเขตท้องถิ่นต่างๆ อาทิ การแข่งขันทำสวนปาล์มน้ำมันในภาคตะนาวศรีระหว่างกลุ่มบริษัทไทยกับมาเลเซีย หรือการชิงแปลงอุตสาหกรรมเกษตรทางแถบภาคกลางระหว่างกลุ่มบริษัทไทยกับเวียดนาม 

และ 5.กลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม เช่น การรวมตัวของชาวบ้านเพื่อคัดค้านโรงงานถ่านหินของนักลงทุนไทยที่เมืองทวาย หรือการเดินขบวนของชาวกะฉิ่นขับไล่การสร้างเขื่อนพลังไฟฟ้าของจีนในเขตต้นน้ำอิรวดี

ขณะที่รัฐชายแดนล้วนเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติพร้อมตั้งอยู่บนทำเลทองอันเป็นชุมสายของเส้นทางโลจิสติกส์ชายแดน อาทิ เหมืองหยกและเขตสัมปทานป่าไม้ในรัฐกะฉิ่น แปลงน้ำมันใต้อ่าวเบงกอลที่รัฐยะไข่ หรือการเชื่อมร้อยรัฐกะเหรี่ยงเข้ากับเครือข่ายระเบียงตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) แต่อย่างนั้น ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนาที่ดำรงอยู่อย่างยาวนาน พร้อมการสู้รบประปรายระหว่างทหารพม่ากับทหารชนชาติพันธุ์ กลายเป็นอุปสรรคที่ส่งผลให้รัฐชายแดนเหล่านี้ยังคงมีสภาพล้าหลังและขาดเสถียรภาพบีบให้นักลงทุนต่างชาติต้องเตรียมโยกฐานการผลิตบางส่วนเข้าไปยังเขตภาคกลางเมียนมาร์ซึ่งแม้จะไม่มีแร่ธาตุและป่าไม้เทียบเท่ากับรัฐชายแดน หากแต่ก็มีแปลงปลูกข้าวและฟาร์มอุตสาหกรรมเกษตรหลากหลายชนิด

ในอีกแง่มุมหนึ่ง เรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ "SEZ" ก็นับเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์หลักที่รัฐบาลเมียนมาร์มักใช้ชูเป็นจุดขายเพื่อกระตุ้นกระแสการลงทุนนานาชาติ โดยปัจจุบันมีทั้งที่เขตท่าเรือทวายในเขตตะนาวศรี ท่าเรือเจ้าพยูในรัฐยะไข่ และท่าเรือติลาวาในเมืองสิเรียม พร้อมอีก 7 โซนหลักที่จะถูกพัฒนาขึ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ อันได้แก่ เมืองพะอัน เมืองเมียวดี และด่านพระเจดีย์สามองค์ในรัฐกะเหรี่ยง และที่เหลืออีกสี่แห่งในรัฐฉาน รัฐยะไข่ มัณฑะเลย์ และเขตเมืองหลวงเนย์ปิดอว์ 

แต่กระนั้น สถานการณ์การเมืองในหลายพื้นที่ของเมียนมาร์ บวกกับการพัฒนาโลจิสติกส์ที่ล่าช้าจากฝั่งเพื่อนบ้าน ก็ถือเป็นตัวแปรที่คอยชะลอความคืบหน้าของโครงการเศรษฐกิจสืบต่อไป เช่น การขยายถนนจากกรุงเทพฯ ไปทวาย ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ต้องพิจารณาอยู่อีกมาก หรือความล่าช้าในการพัฒนาถนนจากรัฐมิโซรัมเข้าไปยังรัฐชิน จากการติดขัดเรื่องงบประมาณของอินเดีย ซึ่งก็ถือเป็นภาพที่สวนทางกับความพยายามของจีนและญี่ปุ่นที่มุ่งกระตุ้นการเติบโตของโครงข่ายโลจิสติกส์ในเมียนมาร์อย่างรวดเร็วฉับไว

คงมิผิดนักหากจะกล่าวว่าเมียนมาร์ที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากรและความโดดเด่นทางภูมิรัฐศาสตร์ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "The Last Frontier of Asia" (หรือเป็นดินแดนแห่งความมั่งคั่งผืนสุดท้ายของเอเชีย) จะกลายมาเป็นแผ่นกระดานการลงทุนที่เต็มไปด้วยหมุดทำเลทองอันน่าดึงดูด 

หากทว่าความโดดเด่นเหล่านั้นกลับถูกข่มให้มัวด้วยอุปสรรคทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายในเมียนมาร์ที่ฝังรากลึกมายาวนาน รวมถึงสภาวะแข่งขันของโลกนานาชาติที่มีต่อเมียนมาร์จนทำให้ "The New Great Game" อาจกำลังถืออุบัติขึ้นบนผืนกระดานการลงทุนแห่งนี้ ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่คอยเตือนสติให้นักธุรกิจต่างชาติต้องเตรียมพร้อมก่อนคิดที่จะบุกตลาดเมียนมาร์อย่างเต็มกำลัง

 

 

หมวดของข่าว : ลงทุนต่างประเทศ , ลงทุนอาเซียน , ข้อมูลการลงทุน