ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน
“กัมพูชา” เหลียวมองกัมพูชา…แลโอกาสการลงทุน
24 ธันวาคม พ.ศ. 2557“กัมพูชา” เหลียวมองกัมพูชา…แลโอกาสการลงทุน
บรรยากาศที่น่าลงทุนในกัมพูชา เป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ
ตั้งแต่กัมพูชาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนในปี 1999 และองค์การการค้าโลกในปี 2004 เศรษฐกิจกัมพูชาสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งเฉลี่ย 8% ต่อปี แม้ว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจกัมพูชาต้องสะดุดไปบ้างจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ปี 2011 การเติบโตของ GDP กัมพูชาเพิ่มสูงถึง 7.1% มากกว่าค่าเฉลี่ยอาเซียนที่มีการเติบโตเพียง 5.2% และการลงทุนทางตรงจากต่างชาติก็เพิ่มสูงกว่า 14% จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาปักหลักในกัมพูชาก็เพราะบรรยากาศการลงทุนที่เย้ายวน ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้โดยเสรีไม่มีจำกัด ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจในกัมพูชาได้ 100% และมีสิทธิเช่าที่ดินทำกินระยะยาวถึง 50 ปี หลังจากนั้นสามารถต่อสัญญาได้ อีกทั้งการทำธุรกรรมต่างๆ สามารถใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แทนเงินเรียลกัมพูชาได้โดยสะดวก (partially dollarized economy) จึงไม่น่าแปลกใจที่กว่า 60% ของธุรกิจทั้งหมดในกัมพูชาจะเป็นของคนต่างชาติ โดยอุตสาหกรรมดาวรุ่งในกัมพูชา ได้แก่ เครื่องนุ่มหุ่มและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ การที่กัมพูชามีค่าแรงขั้นต่ำถูกที่สุดในภูมิภาค หรือเพียง 61 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือนนั้น ยิ่งผลักดันให้การลงทุนโดยเฉพาะภาคการผลิตมีการเติบโตมากกว่าธุรกิจในภาคอื่นๆ
อุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มยิ่งสดใส หลัง EU ออกกฎแหล่งกำเนิดสินค้าฉบับใหม่
กล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกัมพูชา ด้วยความที่อุตสาหกรรมนี้ใช้แรงงานเป็นหลัก จึงสามารถดูดซับแรงงานในภาคการผลิตได้สูงสุดถึงกว่า 3 แสนคน คิดเป็น 53% ของแรงงานในภาคการผลิตทั้งหมด อีกทั้งเครื่องนุ่งห่มเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของกัมพูชา หรือคิดเป็นสัดส่วน 80% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด เนื่องจากกัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences: GSP) ในฐานะที่ยังเป็นประเทศด้อยพัฒนา จึงได้รับยกเว้นอากรขาเข้า และโควต้าการนำเข้าจากประเทศพัฒนาแล้ว โดยตลาดส่งออกเครื่องนุ่งหุ่มที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ และยุโรป
แม้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกจะทำให้การส่งออกของประเทศต่างๆ ไปยังสหรัฐฯ และยุโรป เกิดการชะลอตัว แต่การส่งออกเครื่องนุ่มห่มของกัมพูชากลับมีทิศทางที่ดีขึ้นสวนทางกับเศรษฐกิจโลก โดยมูลค่าการส่งออกเครื่องนุ่งห่มทั้งหมดในปี 2011 มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 34% โดยการส่งออกไปยังยุโรปมีการเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 70% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และช่วงครึ่งปีแรกของ 2012 การส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยุโรปยังสามารถเติบโตได้ถึง 21% ทั้งนี้เพราะนอกจากกัมพูชาจะเป็นฐานการผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ดังอย่าง Gap, Levi's, Zara และ H&M แล้ว เมื่อต้นปี 2011 สหภาพยุโรปได้ออกกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origin) ฉบับใหม่ จากเดิมที่ผู้ผลิตกัมพูชาต้องใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น หรือนำเข้าผ้าดิบจากประเทศด้อยพัฒนาอย่างบังคลาเทศเพื่อรับสิทธิพิเศษทางการค้า แต่ภายใต้กฎใหม่ ผู้ผลิตสามารถหาแหล่งวัตถุดิบได้จากทั่วโลกที่มีคุณภาพดีราคาถูก ทำให้ราคาต้นทุนและราคาเครื่องนุ่งห่มมีแนวโน้มถูกลง ส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันและการส่งออก อีกทั้งยังถือเป็นโอกาสดีของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยที่จะสามารถป้อนวัตถุดิบให้กับผู้ผลิตในกัมพูชาได้มากขึ้น
จากข้อได้เปรียบทั้งด้านแรงงานราคาถูก การได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากประเทศพัฒนาแล้ว มาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐยังทำให้นักลงทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาเปิดกิจการตัดเย็บเสื้อผ้า เครื่องนุ่มห่ม ในกัมพูชาเป็นจำนวนมาก ระหว่างปี 2001-2011 จำนวนโรงงานเครื่องนุ่มห่มมีการเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี โดยปี 2011 มีจำนวนทั้งสิ้น 309 โรงงาน เป็นโรงงานของนักลงทุนชาวไต้หวันมากที่สุดถึง 73 แห่ง ในขณะที่โรงงานของนักลงทุนไทยมีเพียง 2 แห่งเท่านั้น และจากกฎแหล่งกำเนิดสินค้าฉบับใหม่ปี 2011 ทำให้มูลค่าโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลเพิ่มขึ้นถึงกว่า 280% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 361 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มในอนาคต โดยคาดว่าปี 2013 GDP ของอุตสาหกรรมนี้จะมีการเติบโตสูงถึง 10%
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่ม หรือย้ายฐานการผลิตไปยังกัมพูชาเป็นหนึ่งทางเลือกของการลงทุน เพราะนอกจากผู้ประกอบการไทยจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ไทยเองก็มีแนวโน้มที่จะถูกตัดสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรปในปี 2014 ซึ่งมีสินค้าในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรวมอยู่ด้วย จึงต้องอาศัยจุดแข็งของกัมพูชาสำหรับสิทธิพิเศษทางการค้า อย่างไรก็ตาม การตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและสภาพการทำงานในโรงงานจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพราะจะมีการตรวจสอบจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศด้วย และแม้กัมพูชาจะมีแรงงานราคาถูกก็จริง แต่ต้องไม่ลืมว่าแรงงานมีผลิตภาพค่อนข้างต่ำ ในชั่วโมงการทำงานที่เท่ากัน แรงงานกัมพูชา 1 คน สามารถผลิตเสื้อได้จำนวนน้อยกว่าแรงงานเวียดนาม 2 เท่า และแรงงานจีนถึง 3 เท่า ผู้ประกอบการจึงต้องคำนึงถึงต้นทุนแอบแฝงจากปัจจัยต่างๆ ประกอบด้วย
ธุรกิจท่องเที่ยวยังขยายตัวได้อีก แต่ควรเน้นลูกค้าระดับบนมากขึ้น
ภาคบริการก็มีโอกาสไม่ด้อยไปกว่าภาคการผลิตเช่นกัน เห็นได้จากการที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกกว่า 3 ล้านคนเดินทางมาเยือนอารยธรรมโบราณที่มีอายุเกือบ 1 พันปี เพื่อชื่นชมความงดงามอลังการของปราสาทนครวัด นครธม ความอ่อนช้อยของนางอัปสรา และความวิจิตรของลวดลายสลักเสลาที่ปราณีตบรรจง ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กัมพูชาถึง 2 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมีการเติบโตของรายได้เฉลี่ยถึงกว่า 21% ต่อปีในช่วง 2000-2011 นอกเหนือจากความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ค่าครองชีพที่ค่อนข้างถูกในกัมพูชาก็เป็นแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาพำนักแบบระยะยาว รวมทั้งภาครัฐเองได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวให้ดียิ่งขึ้น เช่น การอำนวยความสะดวก บริการ visa on arrival และการผ่านด่านข้ามพรมแดน สิ่งเหล่านี้ทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนด้านการท่องเที่ยวในกัมพูชาถึงกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่าจะมีการเติบโตราว 17% ในปี 2012 YoY ซึ่งอัตราการเติบโตของเงินลงทุนนี้สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก
ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวจึงยังมีโอกาสเติบโตได้สูง ปัจจุบันจำนวนโรงแรมและเกสท์เฮาส์ในกัมพูชามีจำนวนราว 500 และ 1,100 แห่ง ตามลำดับ คิดเป็นอัตราส่วนที่พัก 1 แห่ง ต่อนักท่องเที่ยวประมาณ 1,600 คน เมื่อเทียบกับไทย อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1 ต่อ 250 สะท้อนให้เห็นว่าที่พักในกัมพูชายังมีค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ แม้ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อหัวโดยเฉลี่ยจะไม่สูงนัก อยู่ที่ประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน แต่ก็มีการขยายตัวถึง 18% ต่อปี ดังนั้น ธุรกิจร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก บริษัททัวร์ จึงมีโอกาสได้ส่วนแบ่งตลาดในกัมพูชา อย่างไรก็ตาม ธุรกิจควรเล็งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยสูง เพราะลูกค้ากลุ่มนี้จะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นมาก เนื่องจากสายการบินต่างๆ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง จะเปิดเที่ยวบินตรงสู่กัมพูชามากขึ้น รองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการความสะดวกสบายในการเดินทาง และนักท่องเที่ยวแถบตะวันออกกลางที่จัดว่ามีกำลังซื้อสูงก็มีการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 15% ต่อปี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ธุรกิจโรงแรมน่าจะมาแทนที่เกสท์เฮาส์ ในขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องจัดหาสินค้าและบริการระดับพรีเมี่ยมเพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มนี้
การบริโภคและการใช้จ่ายภาคเอกชนเติบโต...โอกาสทองของธุรกิจการค้าและบริการ
การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ รวมถึงการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้กำลังซื้อของคนกัมพูชาเริ่มพุ่งสูงขื้น ช่วงปี 2009-2011 การบริโภคภาคเอกชนมีการขยายตัวเฉลี่ย 10% ต่อปี และในช่วงเวลาเดียวกันหากดูโครงสร้างการใช้จ่ายภาคครัวเรือนรายหมวดสินค้าในกรุงพนมเปญที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น พบว่ารายจ่ายหมวดเสื้อผ้าและรองเท้ามีการขยายตัวสูงที่สุดคือ 18% ต่อปี รองลงมาคือ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดการเดินทางและยานพาหนะ มีการขยายตัวเท่ากันที่ 5% ต่อปี ดังนั้น ธุรกิจค้าปลีกพวกสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจบริการซ่อมบำรุงรถยนต์ รถจักรยานยนต์ มีโอกาสเติบโตรองรับความต้องการได้อีกมาก
ธุรกิจการขายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริม ก็น่าจับตาเช่นดียวกัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของกัมพูชาถือได้ว่ามีความก้าวหน้าไปมาก และตลาดมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 9 ราย และมียอดจดทะเบียนโทรศัพท์มือถือกว่า 14 ล้านเครื่อง คิดเป็นอัตราส่วนต่อประชากร กว่า 90% ส่วนไทยอยู่ที่ 120% ช่วงปี 2000-2011 ยอดจดทะเบียนโทรศัพท์มือถือในกัมพูชามีการขยายตัวเฉลี่ยถึงปีละ 48% เทียบกับไทยที่ตลาดมือถือค่อนข้างคึกคักยังมีการเติบโตที่ต่ำกว่าอยู่ที่ระดับ 34% สะท้อนให้เห็นว่าคนกัมพูชากล้าใช้จ่ายและเห็นมือถือเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตมากขึ้น ยิ่งในอนาคตผู้ให้บริการจะขยายสัญญาณเครือข่ายให้ครอบคลุมไปยังพื้นที่จังหวัดต่างๆของกัมพูชา ความต้องการโทรศัพท์มือถือจึงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ตลาดขายโทรศัพท์มือถือ ทั้งมือหนึ่ง มือสอง และอุปกรณ์เสริม มีศักยภาพเติบโตได้อีกมากในกัมพูชา
บนเส้นทางเศรษฐกิจ Southern Economic Corridor ปักหมุดธุรกิจที่ไหนดี?
นอกจากนี้ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้การติดต่อเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งมีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ โดยเส้นทางเศรษฐกิจตอนใต้เชื่อม ไทย - กัมพูชา - เวียดนาม มี 2 เส้นทางที่น่าสนใจลงทุนทำธุรกิจ คือ เส้นทาง R1 เริ่มจากกรุงเทพฯ - สระแก้ว - ปอยเปต (กัมพูชา) - พนมเปญ - โฮจิมินต์ (เวียดนาม) - วังเตา ระยะทางประมาณ 1,000 กิโลเมตร และเส้นทาง R10 จากกรุงเทพฯ - ตราด - เกาะกง (กัมพูชา) - สีหนุวิลล์ - นามคาน (เวียดนาม) ระยะทาง 970 กิโลเมตร การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมถือเป็นการเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงแหล่งตลาด ซึ่งจะก่อให้เกิดการขยายตัวของการค้า การลงทุน และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น
บนเส้นทาง R1 ด่านอรัญประเทศ (จ.สระแก้ว) และปอยเปต เป็นจุดสำคัญที่เหมาะแก่การทำการค้าชายแดน ในบรรดาด่านศุลกากรไทย - กัมพูชา ทั้งหมด ด่านอรัญประเทศมีมูลค่าการค้าปี 2011 สูงที่สุดถึงเกือบ 4 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น เพราะสินค้าไทยเป็นที่ต้องการของตลาดกัมพูชา อีกทั้งรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายก็มีเป้าหมายเพิ่มการเติบโตของมูลค่าการค้าระหว่างกันที่ระดับ 30% ในส่วนของธุรกิจโลจิสติกส์ คลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า เหมาะที่จะไปตั้งในเขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปตโอเนียง เพราะจะมีการพัฒนาให้เป็นสถานีขนถ่ายสินค้าเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ของ 2 ประเทศ
ส่วนเส้นทาง R10 นั้น ธุรกิจท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ควรยึดเกาะกงเป็นทำเล เพราะนอกจากจะเป็นเมืองหน้าด่านที่ติดกับไทย เกาะกงยังรายล้อมด้วยความสวยงามทางธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ ทะเล และแม่น้ำ จึงเป็นเสมือนประตูสู่การท่องเที่ยวกัมพูชา นอกจากนี้ บริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง เหมาะกับการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม แปรรูปไม้ สินค้าเกษตร และสัตว์น้ำ เพราะผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากร วัตถุดิบ และแรงงานในกัมพูชาที่มีอยู่มากมาย รวมถึงใช้สิทธิพิเศษทางการค้าที่กัมพูชาได้รับจากประเทศพัฒนาแล้วอีกทางหนึ่ง เช่นเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษท่าเรือสีหนุวิลล์ นอกจากจะเป็นโอกาสของธุรกิจภาคการผลิตแล้ว ธุรกิจโลจิสติกส์ควรมองหาลู่ทางการลงทุน หรือให้บริการจัดการห่วงโซ่อุปทานแก่ธุรกิจอื่นๆ บริเวณท่าเรือสีหนุวิลล์ เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ที่มีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น
ผู้ประกอบการไทยคงต้องจัดหาแหล่งเงินทุนจากไทย เพื่อไปลงทุนในกัมพูชา
เนื่องจากการกู้ยืมเงินในธนาคารกัมพูชามีต้นทุนสูงถึงราว 15% อีกทั้งตลาดทุนในกัมพูชายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่ต้องอาศัยเวลาในการพัฒนา โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งกัมพูชา หรือ Cambodia Securities Exchange (CSX) เพิ่งเริ่มเปิดให้มีการซื้อขายในเดือนเมษายน 2012 ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนเพียงบริษัทเดียวเท่านั้น คือ Phnom Penh Water Supply Authority (PPWSA) และมีมูลค่าตลาด (market capitalization) อยู่ที่ประมาณ 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในระยะเวลาครึ่งปีที่ผ่านมาหลังจากเปิดดำเนินการ ตลาดหุ้น CSX ยังต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ โดยพบว่า ตลาดมีปริมาณการซื้อขายเบาบาง ไม่มีสภาพคล่อง และการลงทุนเป็นเพียงแค่ระยะสั้น โดยในช่วง 3 วันแรก ของการเปิดซื้อขาย ราคาหุ้น PPWSA พุ่งสูงขึ้นเกินกว่าราคา IPO ถึง 60% แต่หลังจากนั้น นักลงทุนเริ่มทยอยขายทำกำไร ทำให้ราคาหุ้นลดต่ำลงเรื่อยๆ
ทั้งนี้ หากตลาดหุ้น CSX มีบริษัทจดทะเบียนเพิ่มมากขึ้น จะช่วยเพิ่มสภาพคล่อง และความคึกคักให้ตลาด โดยปีหน้าคาดว่าจะมีบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอีก 5 บริษัท โดย 3 บริษัทจะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ด้านกิจการท่าเรือ และ โทรคมนาคม อย่างไรก็ตาม บริษัทที่อยากจะเข้าตลาด CSX ต้องเคยมีการจัดทำสถานะทางการเงินมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี โดยบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีชั้นนำจากต่างประเทศ ดังนั้น บริษัทท้องถิ่นส่วนใหญ่จึงต้องอาศัยเวลาปรับตัวกว่าที่จะสามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนได้ นอกจากนี้ กัมพูชายังตัองพัฒนากฎระเบียบ นวัตกรรมในตลาดทุน เสริมสร้างธรรมาภิบาล ทั้งในด้านบัญชี และจริยธรรมทางธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้ตลาดหุ้นเป็นช่องทางการระดมทุนให้กับธุรกิจ เกิดการขยายกิจการ และการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นแรงผลักดันต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
การลงทุนในกัมพูชา ตัองศึกษาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบด้วย
แม้ว่ากัมพูชาจะมีข้อได้เปรียบทั้งด้านแรงงานซึ่งมีราคาถูก และการได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า แต่การทำธุรกิจในกัมพูชายังมีอุปสรรคที่สำคัญคือ การเริ่มดำเนินธุรกิจในกัมพูชานั้นต้องใช้เวลานานถึง 85 วัน และมีขั้นตอนมากมาย โครงสร้างพื้นฐานในกัมพูชาก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร อีกทั้งยังมีความเสี่ยงเรื่องปัญหาชายแดนระหว่างไทย - กัมพูชาเป็นระยะๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องพิจารณาถึงปัจจัยเหล่านี้ รวมถึงต้นทุนแอบแฝงในการทำธุรกิจด้วย เพราะแม้แรงงานจะมีราคาถูกก็จริง แต่ผลิตภาพแรงงานยังค่อนข้างต่ำ และมีการประท้วงหยุดงานเพื่อเรียกร้องการขึ้นค่าแรงอยู่บ่อยครั้ง ส่วนค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง และค่าใช้จ่ายพื้นฐานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ก็มีราคาแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการได้พิจารณาปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อย่างรอบคอบแล้ว กัมพูชาก็ถือเป็นประเทศทางเลือกหนึ่ง ที่มีความน่าสนใจเข้าไปลงทุนเลยทีเดียว
Key takeaways:
|
Cr:https://www.scbeic.com/THA/document/topic_mb_combodia/
Cr:http://pe1.isanook.com/ns/0/wb/i/url/www.innnews.co.th/images/news/2012/4/384965-01.jpg
-
ผู้นำเขมร-เวียดนาม ให้คำมั่นส่งเสริมความสัมพันธ์-กระตุ้นการค้า $5,000 ล้าน
26 ธันวาคม พ.ศ. 2557 -
สเต็ปใหม่ยักษ์วัสดุ "โฮมโปร" ชูวันสต็อปช็อปบุกมาเลเซียทะลุ AEC
29 ธันวาคม พ.ศ. 2557 -
ฟิลิปปินส์เล็งเปิดประมูลพัฒนาสนามบิน
30 ธันวาคม พ.ศ. 2557