ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน

กฟภ.ทุ่มพันล้านรับชายแดนโต ศก.ลาวบูมเล็งซื้อเพิ่มแสนโวลต์

5 มกราคม พ.ศ. 2558

 

กฟภ.ลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท เสริมประสิทธิภาพสถานีแม่สาย-เชียงแสน-เชียงของ-เชียงคำ รองรับเศรษฐกิจชายแดนเติบโต คาดสร้างเสร็จปี′60 เผยฝั่งลาวลงทุนคึกคัก เตรียมซื้อไฟจากไทยเพิ่มเป็นแสนโวลต์ ฟากไฟฟ้าลาวเร่งพัฒนาเสถียรภาพ คาดปี′68 ใช้ไฟพุ่งวันละ 50 เมกะวัตต์

นายถิรพงษ์ กษิรวัฒน์ ผู้อำนวยการกองแผนงานและปฏิบัติการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีแผนพัฒนาระบบไฟฟ้า ตามโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าบริเวณจุดผ่านแดนถาวรใน 4 พื้นที่ ได้แก่ แม่สาย เชียงแสน เชียงของ และเชียงคำ ทั้งการก่อสร้างสถานีใหม่ การเพิ่มหม้อแปลงไฟฟ้ารวมทั้งการก่อสร้างระบบสายส่ง เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยใช้งบประมาณในโครงการดังกล่าวรวม 1,102.41 ล้านบาท

ทั้งนี้ กฟภ.มีแผนก่อสร้างสถานีไฟฟ้าเพิ่มเติม 2 แห่ง ได้แก่ สถานีไฟฟ้าแม่สายแห่งที่ 2 บริเวณจุดผ่านแดนถาวรแม่สาย และสถานีไฟฟ้าเชียงคำ ขนาด 1x50 เอ็มวีเอ วงเงินลงทุน 194 ล้านบาท และจะเพิ่มหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง จากขนาด 1x50 เอ็มวีเอ เป็น 2x50 เอ็มวีเอ ในสถานีไฟฟ้าแม่สาย วงเงินลงทุน 42.85 ล้านบาท สถานีไฟฟ้าเชียงแสน และสถานีไฟฟ้าเชียงของ วงเงินลงทุน 210.46 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2560

ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในเชียงของที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงมีการเปลี่ยนรูปแบบสถานีไฟฟ้าเชียงของ จากรูปแบบ Tail End เป็น Main & Transfer งบฯลงทุน 65 ล้านบาท จะแล้วเสร็จในปี 2559 รวมทั้งมีแผนก่อสร้างระบบสายส่งระบบ 115 เควี เชื่อมสถานีไฟฟ้าแม่สาย-เชียงแสน ระยะทาง 34 กิโลเมตร งบฯลงทุน 144.80 ล้านบาท และสายส่งเชื่อมสถานีไฟฟ้าเชียงแสน-เชียงของ ระยะทางรวม 69 กิโลเมตร วงเงิน 250.90 ล้านบาท หากผลการศึกษาสิ่งแวดล้อมผ่าน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2560

"หากการเชื่อมต่อสำเร็จ ผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับประชาชนทั้งไทยและลาว การลงทุนจะเพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าการใช้ไฟฟ้าจะเติบโตอีก 12-13% โดยในปีนี้โซนเชียงของขายไฟฟ้าไปประมาณ 90 ล้านบาท โซนเชียงแสนประมาณ 60 ล้านบาท ส่วนโซนแม่สายประมาณ 200 ล้านบาท และคาดว่าปี 2558 จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10%"

นายถิรพงษ์กล่าวว่า ปี 2557 ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากสถานีเชียงของ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 10% สถานีไฟฟ้าแม่สาย บริเวณชายแดน สปป.ลาว เพิ่มขึ้น 12.65% และฝั่งเมียนมาร์เติบโต 10.05% โดยฝั่ง สปป.ลาวเติบโตจากเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ตรงข้ามกับอำเภอเชียงแสน ทำให้การใช้ไฟฟ้าในเขตพื้นที่เชียงแสนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่ใช้ประมาณวันละ 1-2 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 8 เมกะวัตต์ ซึ่งทาง สปป.ลาวกำลังเจรจาขอซื้อไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้าเชียงแสนเพิ่มเป็น 115,000 โวลต์ จากเดิมที่ซื้อประมาณ 20,000 โวลต์

ส่วนแผนการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินในจังหวัดเชียงราย ขณะนี้ยังไม่มีแผนการดำเนินการ ซึ่งต้องผ่านการอนุมัติจาก ครม. และร่วมมือกับทางเทศบาล อีกทั้งการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินยังใช้เงินลงทุนสูง ประมาณ 8 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ขณะที่การวางสายไฟฟ้าบนดินจะใช้งบฯ 2-3 ล้านบาท แต่หากดำเนินการจริง คาดว่าจะเป็นบริเวณหอนาฬิกา โรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค อำเภอเมือง และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ

ด้านนายสุเวท หลวงไชยทำมะรังสี รองหัวหน้ารัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว สาขาแขวงบ่อแก้ว กล่าวว่า ปัจจุบันแขวงบ่อแก้วมีความต้องการใช้ไฟฟ้าวันละ 20 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากความต้องการในปี 2554 อยู่ที่วันละ 6 เมกะวัตต์ และคาดว่าในปี 2568 ความต้องการจะเพิ่มมากขึ้นถึงวันละ 50 เมกะวัตต์ จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคบริการ การท่องเที่ยว และเกษตรกรรมที่มีกลุ่มทุนจากจีนมาลงทุนจำนวนมาก นอกจากนี้เมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว อาจตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้ไม่เพียงพอ ทางรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวจึงจะพัฒนาให้มีเสถียรภาพด้านพลังงานมากขึ้น


ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

 

Cr:http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1419919186