ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน

ความหวังในการพัฒนาระบบสาธารณสุขในเขตชนบทพม่า หลังการปฏิรูปการเมืองและข้อตกลงหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อย

9 มีนาคม พ.ศ. 2558

เครือข่ายองค์กรด้านสาธารณสุขชุมชนที่มีชื่อว่า The Health Information System Working Group เริ่มการสำรวจเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสาธารณสุขของประชากรพม่าราว 5 แสนคนในเขตชนบทห่างไกลเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าความขัดแย้งที่ลดลงหลังการจัดทำข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อย 14 กลุ่ม ได้ช่วยยกระดับภาพรวมด้านสาธารณสุขของประชาชนพม่าในเขตชนบท ตั้งแต่การคลอดบุตรไปจนถึงการติดเชื้อโรคต่างๆ

คุณ Saw Nay Htoo ผอ.โครงการดังกล่าว ชี้ว่าความรุนแรงที่ลดลงช่วยให้แพทย์สามารถเข้าไปถึงพื้นที่ชนบทห่างไกลได้มากขึ้น แม้ว่าจะยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง คุณ Saw Nay Htoo บอกว่าหากเป็นเมื่อ 3-4 ปีก่อน คณะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาจถูกทหารพม่าจับกุมได้ตลอดเวลา แต่ภายหลังมีข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวเมื่อ 3 ปีก่อน ดูเหมือนแพทย์ได้รับอิสระให้เดินทางไปในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น

รายงานของ The Health Information System Working Group ระบุว่ามากกว่า 70% ของผู้หญิงที่กำลังคลอดบุตร ได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนมาแล้ว และอัตราการขาดสารอาหารในกลุ่มสตรีพม่าก็ลดลงเช่นกัน แต่อัตราการขาดสารอาหารในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ยังอยู่ในระดับสูง คือเกินกว่า 15% รายงานสำรวจชิ้นนี้ยังพบด้วยว่าอัตราการใช้มุ้งเพื่อป้องกันยุงก็เพิ่มขึ้นด้วย

แพทย์หญิงชาวกะเหรี่ยง Cynthia Muang ผอ.คลินิกแม่ตาวในอำเภอแม่สอด จ.ตาก ชี้ว่าการต่อสู้ที่น้อยลงยังช่วยเพิ่มโอกาสในการฟื้นฟูบูรณะเครือข่ายโครงสร้างสาธารณสุขที่ถูกทำลายไปในช่วงหลายปีของความขัดแย้ง เวลานี้องค์กรต่างๆ กำลังร่วมมือกันเพื่อสร้างเครือข่ายด้านสาธารณสุขที่แข็งแกร่งในเขตชนบทพม่า โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขของไทย

ถึงกระนั้น ยังคงมีความท้าทายอีกมากรออยู่ โดยเฉพาะปัญหาผู้ลี้ภัยชนกลุ่มน้อยที่ยังคงมีจำนวนมากมายหลายแสนคนตามพรมแดนไทย-พม่า

อาจารย์วรวิทย์ สุวรรณวนิชกิจ จากคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัย Johns Hopkins ในสหรัฐฯ ชี้ว่าแม้จะมีสัญญาณความร่วมมือที่ดีทั้งในระดับประเทศและระดับชุมชน แต่จำเป็นที่รัฐบาลพม่าต้องเปิดกว้างเพื่อการปฏิรูปมากยิ่งขึ้น อาจารย์วรวิทย์กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนพม่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนกลุ่มน้อย ยังขาดแคลนโครงสร้างด้านสาธารณสุขอย่างมาก ดังนั้นการกระจายความจำเป็นในส่วนนี้ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลพม่า
 
โดยในขั้นแรก อาจารย์วรวิทย์แนะนำให้รัฐบาลพม่าหาทางยุติปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นปัจจัยที่กัดเซาะความพยายามแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาโครงสร้างสาธารณสุขในเขตชนบทของพม่ามาเนิ่นนาน

รายงานจากผู้สื่อข่าวประจำกรุงเทพฯ Ron Corben / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล

CR:http://www.voathai.com/content/myanmar-health-ss/2664158.html