ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน

“เจาะลึก AEC กับ KAsset”: จับตา “มาเลเซีย” เสือเหลืองแห่ง AEC (ตอน 2)

12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

 ในบทความตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจมาเลเซีย แผนพัฒนาเศรษฐกิจหลักๆ รวมถึงรายได้หลักของประเทศไปแล้ว มาครั้งนี้เราขอเล่าถึงประสบการณ์และความประทับใจ ที่ได้รับจากการไปสัมผัสประเทศมาเลเซียมาหลายต่อหลายครั้งกันบ้าง เริ่มจากความประทับใจแรกที่เราได้พบเห็น  คือ สนามบินนานาชาติมาเลเซีย (Kuala Lumpur International Airport: KLIA) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย  ที่ดูทันสมัย กว้างขวาง และสะอาดตา ไม่ต่างกับประเทศพัฒนาแล้ว มีร้านค้าปลอดภาษีมากมายให้เลือกซื้อสินค้า ซึ่งสนามบินแห่งนี้ประกอบไปด้วยอาคารผู้โดยสารรวม 2 อาคาร สำหรับอาคารแรก หรือที่เรียกว่า KLIA1 รองรับผู้โดยสารจากสายการบินปกติ ทั้งเที่ยวบินในประเทศและระหว่างประเทศ    รวมกว่า 60 สายการบินทั่วโลก เช่น การบินไทย มาเลเซียแอร์ไลน์ ฯลฯ สำหรับอาคารที่ 2 หรือ KLIA2  เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อต้นปีที่แล้ว  มีไว้รองรับผู้โดยสารจากสายการบินต้นทุนต่ำ อาทิ แอร์เอเชีย ไทเกอร์แอร์เวย์ และไลออนแอร์สนามบินนานาชาติแห่งนี้รองรับผู้โดยสารถึงปีละประมาณ 49 ล้านคน (สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง มีผู้โดยสารรวมกันปีละประมาณ 66 ล้านคน)  จากนั้นเราเดินทางจากสนามบินเข้าสู่ตัวเมืองกัวลาลัมเปอร์โดยรถยนต์ ระหว่างทางเราสังเกตเห็นสวนปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของมาเลเซียจำนวนมากตลอด2 ข้างทาง เมื่อมาถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ อาคารคู่แฝดซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประเทศมาช้านาน ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางเมือง อาคารนี้เป็นสำนักงานของ Petronas

ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ในมาเลเซีย มีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่  และเมื่อเดินทางต่อไปอีกนิดไม่ห่างจากตึกแฝดมากนัก จะพบจุดเชื่อมต่อของรถไฟความเร็ว
สูงที่มาจากสนามบินและระบบรถไฟฟ้าที่ใช้เดินทางภายในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้แก่ Light Rail Transit หรือ “LRT” และ Monorail สภาพภายในของ LRT ค่อนข้างใหม่
และสะอาดมาก ไม่ต่างกับรถไฟฟ้าบ้านเรา ต่างกันเพียงเป็นรถไฟฟ้าที่วิ่งอยู่บนดิน ไม่ได้ยกระดับขึ้นไปเหมือนรถไฟฟ้าบ้านเราปัจจุบันประเทศมาเลเซียกำลังพัฒนาระบบคมนาคมขึ้นไปอีกขั้น ด้วยแผนพัฒนารถไฟฟ้า Mass Rapid Transit หรือ MRT ปัจจุบันมีการพูดกันถึงแผน MRT ถึง 3 สาย สายแรกกำลังสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2017    สายที่ 2 อยู่ระหว่างการอนุมัติโครงการ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในต้นปีนี้ และเริ่มสร้างในปีหน้า ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2022 นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซียยังมีแผนที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูงไปยังประเทศสิงคโปร์อีกด้วย ซึ่งแผนดังกล่าวส่งผลบวกต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ให้มีงานต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันเส้นทางที่มีการก่อสร้าง MRT1 ทำให้การจราจรในกัวลาลัมเปอร์ที่คับคั่งมากอยู่แล้ว เพิ่มความติดขัดขึ้นไปอีก 
สำหรับโครงการอสังหาริมทรัพย์ในกัวลาลัมเปอร์ ส่วนใหญ่จะเป็นทาวน์โฮมหรือคอนโดมิเนียม ประชากรในกรุงกัวลาลัมเปอส่วนใหญ่มีอายุน้อยและมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per Capita) ที่สูงกว่าไทยถึงสองเท่า   ซึ่งค่าครองชีพในกรุงกัวลาลัมเปอร์โดยรวมค่อนข้างสูงหากเทียบกับไทย โดยดูได้จากราคาอาหาร และราคาสินค้าที่ขายตามร้านค้าปลีก เช่น ร้านค้าท้องถิ่นที่ชื่อ “Guardian” ซึ่งเป็นร้านคล้าย Watsons ในไทย และร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ที่มีขนาดเล็กกว่าไทย และขายสินค้าไม่หลากหลายเท่าไทย แต่ราคาสินค้าโดยเฉลี่ยสูงกว่าไทย 

จุดเด่นอีกอย่าง คือ มาเลเซียมีสถานท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่เมืองไทยไม่มี คือ คาสิโน มีชื่อว่า “Genting Highlands” ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองกัวลาลัมเปอร์ไปประมาณ
1 ชั่วโมง ตั้งอยู่บนภูเขามีทิวทัศน์สวยงาม อากาศเย็นสบาย เดินทางขึ้นไปได้ด้วยรถยนต์ หรือ Cable car ปัจจุบัน Genting Highlands เปิดให้บริการทั้งคาสิโน และโรงแรม ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการสร้างสวนสนุกกลางแจ้ง The 20th Century Fox World ที่ใหญ่ที่สุดใน Asia ด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 3 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ  คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า ซึ่งหลังจากเปิดสวนสนุกเป็นที่เรียบร้อย คาดว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นและอาจกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญของสวนสนุกSentosa ประเทศสิงคโปร์   นอกจากเมืองหลวงแล้ว มาเลเซียยังมีเมืองอื่นๆ ที่สำคัญอีก เช่น เขต Johor ทางตอนใต้ของมาเลเซีย ซึ่งเป็นโซนที่มีการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์มากที่สุดในประเทศเนื่องจากมีชาวต่างชาติเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก และมีการเก็งราคาอสังหาริมทรัพย์ ด้วยราคาบ้านที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 30% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่ราคาบ้านจะเริ่มปรับตัวลดลงจากภาวะ Oversupply และมาตรการสกัดการเก็งกำไรจากธนาคารกลาง ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อีกเมืองหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เมือง Penang ซึ่งเป็นเมืองที่คนมาเลเซียนิยมมาซื้อบ้านหลังที่สอง ปัจจุบันมีแผนพัฒนาด้านคมนาคม (Penang Transport Master Plan) ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนน ทางด่วน รถไฟฟ้า ซึ่งตามแผน
กำหนดแล้วเสร็จในปี 2030 

 บลจ.กสิกรไทย หวังว่าการบอกเล่าประสบการณ์ในประเทศมาเลเซียที่ผ่านมาจะทำให้ท่านผู้อ่านจะเริ่มเห็นภาพการลงทุนในมาเลเซียมากขึ้น ซึ่งครั้งหน้าเราจะมาเจาะลึก
ถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญ ซึ่งเป็นตัวกำหนดทิศทางตลาด การลงทุน รวมถึงผู้ลงทุนรายหลักในประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีความน่าสนใจไม่แพ้เรื่องราวอื่นๆ ที่เคยนำเสนอ 

เรียบเรียงโดย ฝ่ายจัดการกองทุนตราสารทุน บลจ.กสิกรไทย
คำเตือน : การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

CR:http://www.kasikornasset.com/TH/MarketUpdate/Pages/25580511.aspx