ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน
"สุวิทย์" เล็งถกคลังหามาตรการหนุนผู้ประกอบการไทยลงทุนในต่างประเทศเพิ่ม เล็งเว้นภาษีให้กับบริษัทที่นำเม็ดเงินกลับเข้าประเทศ ลดความซ้ำซ้อน
8 สิงหาคม พ.ศ. 2559"สุวิทย์" เล็งถกคลังหามาตรการหนุนผู้ประกอบการไทยลงทุนในต่างประเทศเพิ่ม เล็งเว้นภาษีให้กับบริษัทที่นำเม็ดเงินกลับเข้าประเทศ ลดความซ้ำซ้อน
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยระหว่างงานสัมมนา ”Thailand Overseas Investment Forum 2016” วานนี้ (1 ส.ค.)ว่า ในระยะเวลาประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยได้ออกไปลงทุนในต่าง
ประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีการลงทุนรวมกันประมาณ 1,000 ล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นล้านบาท
โดยกว่า 20% เป็นการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลที่ต้องการจะให้ภาคเอกชนไปลงทุนในอาเซียนโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งเศรษฐกิจเติบโตสูง
เล็งเว้นภาษีกำไรลงทุนนอก
ทั้งนี้ บีโอไอเตรียมหารือกับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมให้ภาคเอกชนของไทยไปลงทุนยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยอาจพิจารณามาตรการยกเว้นภาษีจากกำไรในกรณีที่การทำธุรกิจนั้นๆได้ดำเนินการเสียภาษีในประเทศต้นทางที่มีการเข้าไปลงทุนมาแล้วเพื่อเป็นการลดภาระการเงินให้กับผู้ประกอบการและจูงให้ลงทุนเพิ่มขึ้น โดยจะต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะเป็นอุตสาหกรรมประเภทใดและจะยกเว้นภาษีนานเท่าไร
“บีโอไอมีการเวิร์คชอปกันก็หารือในเรื่องนี้ และจะไปคุยกับกระทรวงการคลังต่อว่าบางบริษัทที่มีการไปลงทุนต่างประเทศต่อไปอาจพิจารณายกเว้นภาษีในการนำกำไรกลับมายังประเทศไทย ซึ่งตามหลักการในกรณีที่บริษัทเหล่านั้นมีการเสียภาษีจากประเทศต้นทางแล้วก็อาจไม่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนอีก แต่คงไม่ได้ให้ทุกบริษัทที่ออกไปลงทุนต้องพิจารณาก่อนว่าเงื่อนไขเป็นอย่างไร อุตสาหกรรมลักษณะไหนที่เข้าข่าย เพราะถ้าให้สิทธิประโยชน์แบบนี้ทุกบริษัทที่ออกไปลงทุนเราก็คงไม่ได้อะไรเลยซึ่งจะมีการคุยเงื่อนไขกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง”นายสุวิทย์กล่าว
แนะเร่งลงทุน“ซีแอลเอ็มวี”
ในการสัมมนาหัวข้อ “โอกาสการลงทุนไทยในอาเซียน” นายสมภพ มงคลพิทักษ์สุข รองประธานกรรมการ กลุ่มอุตสาหกรรมสัตว์บก เขตประเทศมาเลเซีย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่าประเทศในอาเซียนซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดกลางและขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี) ของไทยควรเข้าไปลงทุนเนื่องจากมีโอกาสทางธุรกิจมาก ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา ลาว และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวดี แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมและการเกษตรยังไม่ทัดเทียมกับไทย ยังต้องการเทคโนโลยีการเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ส่วนมาเลเซียเป็นประเทศที่ควรเข้าไปลงทุนแปรรูปอาหารฮาลาล สามารถส่งไปขายยังประเทศมุสลิมทั่วโลกได้
“ฟิลิปปินส์-เวียดนาม”โอกาสลงทุน
นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศต่างๆในอาเซียนแตกต่างกันมากในเรื่องของระดับการพัฒนาโดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคซึ่งหลายประเทศจะต้องลงทุนอีกมาก โดยบ้านปูมีการเข้าไปลงทุนธุรกิจเหมืองถ่านหินในอินโดนิเซียเมื่อ 20 ปีก่อน และขณะนี้ขยายไปทำโรงไฟฟ้าขนาด 1,800 เมกกะวัตต์ใน สปป.ลาว โดยมองว่าปัจจุบันประเทศในอาเซียนที่มีโอกาสเติบโตมากคือ ฟิลิปปินส์ซึ่งเศรษฐกิจโตมากกว่า 6% ต่อเนื่องหลายปี รวมทั้งมีประชากรในวัยแรงงานมาก ส่วนเวียดนามเติบโตของกำลังซื้อสูงทำให้โอกาสในการทำ
ธุรกิจค้าปลีกมีโอกาสที่จะขยายตัวได้มาก
“บีโอไอ”เผยจุดเด่น8ปท.อาเซียน
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการบีโอไอเปิดเผยว่าในปี 2560 บีโอไอจะเปิดสำนักงานส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติม 2 แห่ง ที่นครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา และกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปลงทุน โดยทั้งสองประเทศมีนักลงทุนไทยสนใจเข้าไปลงทุนจำนวนมาก และในปี 2561 บีโอไอจะเปิดสำนักงานส่งเสริมการลงทุนอีกแห่งที่เมืองจากาตาร์ ประเทศอินโดนิเซียเพื่อรองรับการเข้าไปลงทุนของนักลงทุนไทยในอนาคต
สำหรับจุดเด่นของประเทศต่างๆในกลุ่มอาเซียนที่บีโอไอส่งเสริมให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนมี 8 ประเทศ ได้แก่ 1.อินโดนิเซีย โดยรัฐบาลกำลังเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่ง รวมถึงสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป โดยนักลงทุนไทยควรใช้ความได้เปรียบในเรื่องเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญในการผลิต ขณะที่อินโดนิเซียมีแรงงานราคาถูกจำนวนมากและมีทักษะปานกลาง
2.เมียนมา ยังมีโอกาสที่สามารถเข้าไปทำธุรกิจอีกมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร หรือเกษตรแปรรูปเพื่อจำหน่าย ในประเทศหรือส่งออก เช่น ปลาหรือกุ้งแช่แข็ง 3.กัมพูชา มีสินค้าสำคัญคือเครื่องนุ่งห่ม โอกาสของไทยคือการเข้าไปลงทุนตั้งบริษัทนำเข้าเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มและตั้งโรงงานผลิตรองเท้า
4.เวียดนาม โอกาสของนักลงทุนไทยสามารถไปตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าโดยรับคำสั่งจากลูกค้าในไทย หรือจากต่างประเทศเพื่อส่งออก รวมทั้งจัดตั้งบริษัทนำเข้าเสื้อผ้าจากไทยเพื่อไปจำหน่ายยั่งเวียดนาม 5.บรูไนมีนโยบายการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยต้องการให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยมีต้นทุนทางธุรกิจค่อนข้างต่ำทั้งค่าสาธารณูปโภค ภาษี โดยไทยมีโอกาสเข้าไปทำอุตสาหกรรมประมง และอาหารทะเลแปรรูปได้
6.ฟิลิปปินส์ ถือว่าเป็รตลาดขนาดใหญ่ โดยมีผู้บริโภคมากเป็นอันดับสองของอาเซียน โดยมีความต้องการสินค้าประเภทอาหารแปรรูป และอะไหล่ยานยนต์ 7.มาเลเซีย เหมาะที่จะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งสามารถส่งออกไปยังประเทศมุสลิมทั่วโลกได้ และ 8.ส.ป.ป.ลาว เป็นประเทศที่มีโอกาสในการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตร แปรรูปอาหาร ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีกและห้างสรรพสินค้า เป้นต้น
-----------
Cr: http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/710211
-
เดินหน้า‘East-West Ferry’ เดินทางข้ามอ่าวไทย
13 กันยายน พ.ศ. 2559 -
กลุ่มทุนจีนชนะประมูลสร้างตึกแฝดสูงที่สุดในโลกในกรุงพนมเปญของกัมพูชา
12 มกราคม พ.ศ. 2560 -
โครงการลงทุนรถบริการสาธารณะในบรูไนฯ
26 มกราคม พ.ศ. 2560 -
ทำไมต้องสนับสนุนผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ
28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560