ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน

"เมียนมาร์ "แม่เหล็กแห่งอาเซียน" ชี้ช่องอุตสาหกรรมไทยบุกตลาด

2 สิงหาคม พ.ศ. 2557

นายพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทย ณ นครย่างกุ้ง กล่าวในงานเสวนาเชิงวิชาการ "รู้ลึกเมียนมาร์ก่อนปักธง" ณ โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ โดยระบุว่า ที่อยากให้คนไทยเริ่มต้นจากคำว่า "Mindset" คือการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มาจากตนก่อน และเรียนรู้สังคมที่แตกต่างกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดียิ่ง

ปัจจุบันเมียนมาร์ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการรองรับการขยายตัวทั้งภาคการค้าและภาคอุตสาหกรรมรวมถึงการเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ในการกระจายสินค้าส่งออก ด้วยช่วงเวลาสำคัญในการปฏิรูปประเทศและนโยบายส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) มาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2531 

ล่าสุดได้มีการปรับปรุงกฎหมายการลงทุนต่างชาติฉบับใหม่ โดยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้ลงนามรับรองกฎหมายฉบับใหม่นี้เมื่อ 2 ปีก่อน ส่งผลให้การลงทุนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น การยกเลิกข้อจำกัดมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำ และสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติ

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตไทย ณ นครย่างกุ้ง ยังชี้ช่องทางการเติบโตทางธุรกิจ 3 ประเภท ที่เป็นโอกาสทองสำหรับไทย คือ 1) ธุรกิจที่มีความสอดคล้องกับนโยบาย หรือยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเมียนมาร์ เพราะมีโอกาสที่จะได้รับการอนุมัติให้ขยายธุรกิจสูง อาทิ การก่อสร้าง การสื่อสารโทรคมนาคม ชลประทาน และพลังงาน 

2) ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones : SEZs) ใน 3 แห่ง ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา (Thilawa SEZ) เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei SEZ) และเขตเศรษฐกิจเจ้าผิว (Kyaukphyu SEZ) ให้สำเร็จก่อนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในสิ้นปี 2558 นี้ 

และ 3) ธุรกิจด้านสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งสินค้าไทยได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมของคนเมียนมาร์อย่างมาก 

นอกเหนือจากการเรียนรู้ข้อกฎหมายและนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนแล้ว "วัฒนธรรมที่แตกต่าง" ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสานความสัมพันธ์ให้ก้าวหน้าได้เป็นอย่างดี โดยอุปนิสัยของคนเมียนมาร์เป็นชาติที่มัธยัสถ์ ไม่ชอบการเป็นหนี้ ฉะนั้น การทำบัตรเครดิตจึงไม่เป็นที่นิยม, คนเมียนมาร์ส่วนใหญ่มีความหวาดระแวงสูง 

ดังนั้น การติดต่อธุรกิจควรเริ่มต้นด้วยความจริงใจ, คนเมียนมาร์เชื่อในเรื่องของโชคชะตาและพรหมลิขิต ซึ่งส่วนใหญ่จะมีขั้นตอนการซักถามวันเดือนปีเกิดของคู่ค้าก่อนเสมอ และรสชาติอาหารไทยยังไม่เป็นที่นิยมของคนในประเทศ ฉะนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายธุรกิจอาหารไทย หวังเพิ่มกลุ่มลูกค้าท้องถิ่นคงต้องกลับมาทบทวนอีกครั้ง

แม้ว่าเมียนมาร์จะเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจแต่ก็ยังมีอุปสรรคด้านการค้าการลงทุนหลายประการที่ผู้ประกอบการควรศึกษาไว้ เพื่อมองหาแนวทางแก้ปัญหา เช่น ระบบการเงินไม่มีเสถียรภาพ ขาดแคลนเงินตราสกุลหลัก และกฎระเบียบการค้าของเมียนมาร์ที่ยังไม่มีความชัดเจน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย ขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรพะวงกับข้อด้อยจนปล่อยโอกาสทองหลุดมือไปเช่นกัน

 

หมวดของข่าว : ลงทุนต่างประเทศ , ลงทุนอาเซียน , ข้อมูลการลงทุน