ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน

เวียดนาม "เสือเศรษฐกิจใหม่" น่าลงทุนอันดับ 2 ในอาเซียน

20 ตุลาคม พ.ศ. 2557

        ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความร้อนแรงของเศรษฐกิจในรอบทศวรรษที่ผ่านมา "เวียดนาม" กลายเป็นจุดสนใจจากนักลงทุนทั่วทุกมุมโลกด้วยจำนวนประชากรกว่า 90 ล้านคน ซึ่งเพียงพอต่อการเป็นฐานการผลิตแรงงานราคาถูก และขณะเดียวกันกำลังซื้อจำนวนมหาศาลในตลาดที่กำลังเติบโตขึ้นก็เพิ่มเช่นกัน 

       เวียดนาม เป็นที่หมายปองจากนักลงทุนมาโดยตลอดว่า จะสามารถก้าวกระโดดเป็น "เสือเศรษฐกิจ" ตัวใหม่ของเอเชียได้ โดยมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศที่เริ่มหลั่งไหลเข้ามาในเวียดนามตั้งแต่ปี 2551 มีมูลค่าสูงถึง 64,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

       สำนักข่าวเวียดนาม นิวส์ รายงานว่า จากรายงานการสำรวจของหอการค้าสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ในเวียดนาม กล่าวถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของประเทศเวียดนาม โดยความคิดเห็นจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัทสหรัฐ ใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งรวมถึงกว่า 77 บริษัทสหรัฐ ในเวียดนาม ต่างเห็นพ้องไปทิศทางเดียวกันว่า เวียดนามเป็นประเทศที่นานาชาติคาดหวังและตั้งเป้าว่า จะกลายเป็นประเทศที่มีการขยายตัวทางธุรกิจมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน 

       นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งประเทศเวียดนาม เผยผลการสำรวจจากบริษัทต่างชาติทั่วประเทศว่า ราว 37% ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามมีแผนการเตรียมขยายธุรกิจในเวียดนามในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นรองจากอินโดนีเซียเพียงเล็กน้อยโดยอยู่ที่ 41% 

       เกินครึ่งหนึ่งของผลการสำรวจ ราว 57% ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามในเวียดนามคาดหวังว่า ภายในปี 2557 จะเห็นอัตราการเพิ่มขึ้นของแรงงานในประเทศที่สูงขึ้น เพื่อรองรับการขยายธุรกิจที่เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งราว 66% พวกเขาเชื่อว่าจะได้รับผลกำไรที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีหน้า ราว 82% อย่างแน่นอน 

       ด้านผู้บริหาร ระดับสูงของหอการค้าสหรัฐ ชี้จุดแข็งของเวียดนามว่า ราว 66% มองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและเวียดนามถือเป็นพันธมิตรทางการค้าที่ดีมาโดย ตลอด ซึ่งอีก 61% ชี้ว่า ข้อดีของเวียดนาม คือ ศักยภาพของแรงงานเวียดนามที่ดีและยังคงมีต้นทุนที่ต่ำ รวมถึงระดับความปลอดภัยของแรงงานที่มีประสิทธิภาพดี และท้ายที่สุด ราว 60% สหรัฐ มองในเรื่องของความมีเสถียรภาพทางการเมืองและระบบการบริหารจัดการประเทศที่ ดีพอ 

       ขณะที่ผลการสำรวจยังระบุถึงความไม่พึงพอใจเกี่ยวกับกฎหมายและกฎ ระเบียบของเวียดนาม ราว 49% ว่ายังไม่ครอบคลุมและทั่วถึงพอ อีกทั้งอีก 48% ระบุว่า ด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างทางภาษีของเวียดนามต้องปรับปรุงอีกมาก 

       ทั้งนี้ นางสาวตินห์ เหงียน นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเอชเอสซีบี กล่าวว่า แม้ศักยภาพหลากหลายด้านที่เอื้ออำนวยต่อนักลงทุนต่างชาติ แต่รัฐบาลเวียดนามยังต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศให้ดียิ่งขึ้น ก่อน อาทิ ระบบการขนส่ง อีกทั้งการเพิ่มทักษะให้กับแรงงานในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญในการตอบสนองความ ต้องการของนักลงทุนต่างชาติได้ รวมทั้งความสามารถในการเพิ่มเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับบริษัทต่างชาติ ด้วยการบริหารจัดการอย่างทั่วถึงก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มิอาจมองข้าม 

       โดย น.ส.ตินห์กล่าวเพิ่มว่า การลงทุนจากต่างชาติเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ แต่หากรัฐบาลไม่ตระหนักถึงการเพิ่มขีดความสามารถและยกระดับคุณภาพภายในก่อน ในอนาคตเวียดนามอาจต้องพึ่งพาเม็ดเงินต่างชาติเพื่อความอยู่รอดในประเทศก็ เป็นไปได้ 

       ด้านเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ระบุว่าแม้เวียดนามจะมีความได้เปรียบในเชิงบรรยากาศของการลงทุนที่แข็งแกร่ง ต่อนักลงทุนต่างชาติ แต่การไม่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศให้ดีอาจสร้างอุปสรรคในการลงทุนได้ ง่าย ซึ่งปัจจัยในเรื่องจำนวนแรงงานเป็นที่ชัดเจนว่าสามารถดึงดูดนักลงทุนต่าง ชาติได้ แต่ประสิทธิภาพในการทำงานนั้นจำเป็นอย่างมากในการเพิ่มมูลค่าการค้า 

       อย่างไรก็ตาม งบประมาณในการปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับเวียดนาม เนื่องจากหากภาคการผลิตในอุตสาหกรรมเวียดนามยังชะลอตัวเช่นหลายเดือนที่ผ่าน มา โอกาสที่เวียดนามจะเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อและหนี้ก้อนโตในอนาคตก็สามารถเกิด ขึ้นได้ง่าย ซึ่งรัฐบาลต้องทำงานหนัก ทั้งเรื่องการจัดสรรงบฯเพื่อการพัฒนา และส่งเสริมขีดความสามารถของแรงงานสู่ตลาดระดับสากลโดยเร็ว

11 กันยายน 2557

แหล่งข้อมูล: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 7 ก.ย. 2557

โดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ