ข่าวสารกลุ่มประเทศอาเซียน

เมียนมาร์ : โอกาสของ SMEs ไทยภายใต้ AEC

23 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เมียนมาร์ : โอกาสของ SMEs ไทยภายใต้ AEC

 

การประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่ผ่านมา กลายเป็นเวทีแจ้งเกิดของประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่าง“สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์” ด้วยศักยภาพของการเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ที่สำคัญรัฐบาลเมียนมาร์ประกาศนโยบายการเปิดประเทศต้อนรับนักลงทุนต่างชาติ ด้วยการออกมาตรการยกเว้นภาษีให้นักลงทุนต่างชาติถึง 8 ปี และมาตรการจูงใจที่ไม่ใช่ภาษี รวมทั้งเดินหน้าการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม ท่าเรือน้ำลึก เพื่อกระตุ้นการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ให้ได้ร้อยละ 6 ภายในปีนี้

เมื่อผนวกกับเป้าหมายในการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558 ที่จะนำไปสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมของภูมิภาค ยิ่งส่งผลให้เมียนมาร์และภูมิภาคอาเซียน ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมากยิ่งขึ้น

สำหรับประเทศไทย นับเป็นคู่ค้าสำคัญเป็นอันดับ 2 ของเมียนมาร์รองจากจีน โดยปี 2554 มีมูลค่าการค้าขายคิดเป็นจำนวน 185,602.57 ล้านบาท และแม้ว่าไทยจะอยู่ในสถานะขาดดุลการค้า เพราะมีการนำเข้าสินค้าหลักที่สำคัญ คือ ก๊าซธรรมชาติ แต่การส่งออกสินค้าไทยไปเมียนมาร์ มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่อง สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องจักรกล เครื่องดื่ม เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ฯลฯ สิ่งนี้จึงเป็นโอกาสในการขยายการค้า การลงทุนของไทยไปในเมียมาร์

 

ตารางแสดงมูลค่าการค้าระหว่างไทย กับ สหภาพเมียนมาร์

การค้า

2553

2554

การขยายตัว (%)

มูลค่าการค้า

155,631.63

185,602.57

19.26

การส่งออก

65,631.18

85,877.14

30.85

การนำเข้า

90,000.45

99,725.43

10.81

ดุลการค้า

-24,369.27

-13,848.29

43.17

ที่มา : กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์

 

ด้วยความน่าสนใจของเมียนมาร์ ทั้งในด้านการเป็นแหล่งวัตถุดิบ และเป็นตลาดการค้าที่สำคัญของไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ทำการศึกษาภายใต้กิจกรรมการจัดทำแผนที่การตลาดสำหรับ SMEs สู่ตลาดอาเซียน (ASEAN Niche Market Mapping) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ในการแสวงหาโอกาสทางการค้าการลงทุนใหม่ๆ ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ผลการศึกษาทำให้เห็นว่า เมียนมาร์เป็นตลาดสำคัญ และเป็นโอกาสในการขยายการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการ SMEs ไทย เพราะจากจำนวนประชากรเมียนมาร์กว่า 60 ล้านคน แต่ที่ผ่านมายังไม่สามารถผลิตปัจจัยสี่ได้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในประเทศ ขณะที่สภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะการนับถือศาสนาพุทธ วิถีชีวิต ความเชื่อ ประเพณี มีความคล้ายคลึงกับไทย ที่สำคัญชาวพม่ามีค่านิยมในการบริโภคสินค้าที่ยึดติดกับตราสินค้าโดยเฉพาะตราสินค้าไทย ที่เชื่อมั่นว่าเป็นสินค้าคุณภาพดี ทั้งนี้พบว่าศักยภาพทางการค้าและการแข่งขันของกลุ่มสินค้าต่างๆ ในเมืองสำคัญของเมียนมาร์ มีดังนี้

-          เมืองย่างกุ้ง ซึ่งมีประชากรจำนวนมากและมีกำลังซื้อสูง เป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าสู่ภูมิภาคต่างๆ สินค้าที่มีศักยภาพในเมืองนี้ ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหาร อาหารแปรรูป ขนมขบเคี้ยว น้ำมันพืช ผงชูรส เครื่องปรุงต่างๆ กลุ่มวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เช่น สุขภัณฑ์ กระเบื้อง กลุ่มสินค้าเกี่ยวกับยายนต์และชิ้นส่วน ได้แก่ อะไหล่รถยนต์ทั้งของแท้และของทำเทียม และกลุ่มสินค้าบริการและสุขภาพ ได้แก่ สปา ร้านอาหาร เป็นต้น

-          เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าและเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจทางตอนเหนือของเมียนมาร์ กลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพ ได้แก่ กลุ่มสินค้าวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง กลุ่มสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตร กลุ่มสินค้าบริการและสุขภาพ แต่เนื่องจากเป็นเขตติดต่อประเทศจีน จึงจะเจอคู่แข่งสำคัญคือสินค้าจากประเทศจีนที่มีราคาถูกกว่า

-          เมืองเมียวดี ซึ่งเป็นเมืองที่มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างไทยและเมียนมาร์มาก เนื่องจากมีอาณาเขตติดต่อกับไทยทาง อ.แม่สอด จ.ตาก กลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพ ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มสินค้าวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง กลุ่มสินค้าเกี่ยวกับยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ และกลุ่มสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตร

อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาถึงโอกาสของกลุ่มสินค้าต่างๆ ในเมียนมาร์โดยภาพรวม พบว่า กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ อาหาร อาหารแปรรูป ขนมขบเคี้ยว รวมถึงน้ำมันพืชและผงชูรส ที่เป็นสินค้าห้ามนำเข้าประเทศตามแนวชายแดน แต่มีมูลค่าการค้าสูงและได้รับความนิยมจากชาวพม่ามาก  กลุ่มสินค้าเกี่ยวกับการเกษตรและเครื่องจักรกล ได้แก่ เครื่องมือและอุปกรณ์เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็ก ปุ๋ย และเคมีภัณฑ์ กลุ่มสินค้าเกี่ยวกับวัสดุและอุปกรณ์ในการก่อสร้าง ได้แก่ วัสดุก่อสร้างและเคมีภัณฑ์ก่อสร้างทั่วไป รวมถึงสุขภัณฑ์ กลุ่มสินค้าเกี่ยวกับยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน อะไหล่และชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ประดับยนต์ รวมถึงธุรกิจเกี่ยวกับอู่ซ่อมรถ การเปลี่ยนยาง ตั้งศูนย์ ถ่วงล้อ เคลือบสี ขัดรถ กลุ่มสินค้าบริการ สุขภาพ ได้แก่ สปา นวดแผนโบราณ ร้านกาแฟ และร้านเสริมสวย

โดยรูปแบบในการเข้าสู่ตลาดเมียนมาร์ของ SMEs ไทย ที่สำคัญ คือ การหาตัวแทน (Nominee) ที่มีสัญชาติพม่าและเป็นบุคคลที่ไว้ใจได้มาร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจ หรือเป็นการส่งออกทางอ้อม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เนื่องจากการลงทุนในเมียนมาร์กรณีที่นักลงทุนเป็นชาวต่างชาติ ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจจะคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้มีต้นทุนที่สูง

วิธีการที่ง่ายสำหรับการเข้าสู่ตลาดเมียนมาร์ในเบื้องต้น คือการทำธุรกิจประเภทซื้อมาขายไป (Traders) กรณีธุรกิจต่อเนื่อง เช่น โลจิสติก ควรมีลักษณะที่ต่อเนื่องจากธุรกิจการค้า ด้วยการให้บริษัทที่ทำการผลิตสินค้าเข้าไปบุกเบิกทำตลาด และแนะนำให้ใช้บริการโลจิสติกจากบริษัทของไทย นอกจากนี้สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับสินค้าควบคุมที่รัฐบาลไม่อนุญาตให้เอกชนนำเข้า และต้องมีความเป็นกลางในทางการเมือง ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือทำธุรกิจในลักษณะของการอิงกลุ่มการเมือง เป็นต้น

อย่างไรก็ดีผลการศึกษาแผนที่การตลาดฯ ของ สสว. ครั้งนี้ สะท้อนว่า “เมียนมาร์” จะเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการ SMEs ไทย มิใช่เพียงการขยายการค้าการลงทุนเท่านั้นแต่จะเป็นฐานในการกระจายสินค้าสินค้าไทยไปสู่ตลาดเอเชียใต้ เช่น อินเดีย บังคลาเทศ และจีนตอนใต้ ได้อีกทางหนึ่งด้วย !!

 

Cr:http://www.sme.go.th/Lists/EditorInput/DispF.aspx?List=15dca7fb-bf2e-464e-97e5-440321040570&ID=1765

 Cr:http://images.thaiza.com/118/118_20121109153633..jpg